ข่าวข้าว
ความจริงที่ยิ่งรู้…ยิ่งปวดใจ
“ข้าวเปลือกราคากิโลละ 5 บาท ต้นทุนกิโลละ 7 บาท แล้วจะปลูกยังไงให้ไม่มีหนี้”
– เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสันป่าตองท่านหนึ่ง –
เมื่อเราได้ไปสัมผัสนาข้าว คนปลูกข้าว กระบวนการขายข้าว และสายพันธุ์ข้าวก็ยิ่งปวดใจ
พื้นที่ที่เราไปคือสหกรณ์สันป่าตอง เป็นสหกรณ์ที่มีการจัดการดีมากๆ ให้ราคารับซื้อข้าวสันป่าตองสูงกว่าราคาท้องตลาด 30 สตางค์ นั่นคือ ปีนี้เกษตรกรขายข้าวเปลือกให้กับที่อื่นๆ ได้ในราคา 5.50 บาทต่อกิโลกรัม สหกรณ์จะรับซื้อข้าวสันป่าตองในราคา 5.80 ต่อกิโลกรัม ใช่ค่ะ เป็นราคาขายซึ่งต้นทุนของเกษตรกรคือกิโลกรัมละ 7 บาท ปีนี้เกษตรกรหลายๆ คนจึงตัดสินใจเก็บข้าวไว้กินเอง ไม่ขาย แล้วหางานรับจ้างทำเอา ทั้งนี้สหกรณ์ก็ขายราคาสูงกว่าตลาดไม่ได้เลยด้วย เพราะจะไปทำลายกลไกทางการตลาด ทำให้ข้าวทุกที่มุ่งสู่สหกรณ์ เกิดปัญหากับคู่ค้ารายอื่นๆ อีก ทางออกมืดมนมากจริงๆ

ที่อำเภอสันป่าตองเกษตรกรปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 และข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 ที่โด่งดังมากๆ เพราะความหอมอร่อย และที่เราคิดมาตลอดว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นข้าวสันป่าตองด้วยความไม่รู้ ก็ผิดไปอีกค่ะ เพราะข้าวเหนียวเขี้ยวงูแท้ๆ ผลิตได้ที่เชียงแสนเท่านั้น ปีหนึ่งผลิตได้ค่อนข้างน้อย จึงมีข้าวเขียวงูอีกพันธุ์หนึ่งที่สามารถทำผลผลิตได้มากกว่า เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู พันธุ์ 888 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเราน่าจะเดาได้ว่าเขาเป็นใคร

“ในฐานะของคนปลูก ก็อยากจะปลูกอะไรที่มันทำรายได้มากกว่า ให้ผลผลิตที่มากกว่า ที่ปลูกได้น้อยก็ไม่ได้เลือกมาปลูก”
คำกล่าวนี้สะท้อนความจริงว่า ทำไมพันธุ์ข้าวดั้งเดิมจึงหาคนปลูกได้ยาก เพราะเกษตรกรนอกเหนือจากจะต้องผจญกับกลไกทางการตลาดที่มองไม่เห็นกำไร ยังต้องมาต่อสู้กับดินฟ้าอากาศ โรคในพืชอีกมากมาย การได้ผลผลิตที่มากขึ้นได้เงินมากขึ้นก็เป็นทางเลือกที่สวยงามกว่าสำหรับตัวเอง
ยิ่งมาอ่านข่าวเรื่องข้าวในวันนี้ เกี่ยวกับ พรบ. ข้าวฉบับใหม่ที่รอผ่านสภาฯ ซึ่งจะทำให้ชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองมีโทษสูง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยิ่งอ่านรายละเอียดยิ่งเศร้าไปอีก
เราพูดกันเสมอว่าเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ตอนนี้กระดูกสันหลังของชาติผุกร่อนหมดแล้ว ถ้าไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนออกมาช่วย วิตามินอะไรก็ช่วยพวกเขาไม่ได้ นอกจากวิตามินเงิน ที่ต้องสร้างระบบที่ทำให้พวกเขาขายข้าวทำการเกษตรได้ ไม่ต้องขายที่นาปลดหนี้ แล้วที่นาก็ตกเป็นของนายทุน ซึ่งพวกเขาต้องไปรับจ้างทำนาอีกที ไม่อยากให้เหมือนแถบลาวใต้ที่ชาวบ้านขายที่นา ในที่สุดต้องมารับจ้างทำนาเป็นคนเฝ้าที่นาของตัวเอง

เราออกจากนาสีเหลืองทองที่สันป่าตอง ร่ำลาพวกแม่ๆ ที่มาเข้ากล้องเพื่อถ่ายภาพการเกี่ยวข้าวปน (ต้นข้าวคนละสายพันธุ์ หรือวัชพืชที่ขึ้นปะปนอยู่ในนา) ให้เราและทีมงาน แม่ๆ บอกว่าอยากให้ข้าวสันป่าตองราคาดีๆ ข้าวสันป่าตองปีนี้ราคาป่นปี้มาก แต่ไม่รู้จะทำยังไง ก็ยิ้มสู้กันไป แล้วกำชับให้ไปกินร้านลาบที่บอกก่อนหน้า
สำหรับพวกเรา สิ่งที่ช่วยเกษตรกรได้ก็คงมีแค่ช่วยกันบริโภคข้าวกันให้มากๆ เอาข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยกันโพสค์เรื่องข้าว แชร์เรื่องข้าวกันให้มากๆ สนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมากขึ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แม้ว่ามันจะใช้เวลานานและเป็นทางที่ยาก แต่ก็น่าจะลองดูค่ะ
ปล.เรื่องที่เขียนล้วนเป็นความในใจจากที่ไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่ปลูกข้าวสันป่าตองค่ะ แค่อยากระบายเท่านั้น