
เที่ยวชุมชนติดต่อ โทรติดต่อ คุณโย0849147111 และคุณจ้าวที่ 096 6985508
ที่ชุมชนออนใต้ ได้ชื่อว่าเป็น “บ้านจุ้ม เมืองเย็น” เพราะเป็นชุมชนที่มีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ น้ำแม่ออน แม่ผาแหน และห้วยลาน มีโครงการพระราชดำริ ถึง 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยลานและอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน เป็นแหล่งเพื่อการเกษตรที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร นอกจากนี้ยังมีภาษีดีกว่าชุมชนอื่นๆ เพราะโอบล้อมด้วย ดอยสวยที่หลายคนขนานนามว่า “ฟูจิออนใต้” นั่นคือดอยม่อนจิ๋ง หรือดอยจิ๊ง (ภาษาเหนือแปลว่าภูเขาที่สูงชัน) คนที่นี่เลยโชคดีได้อยู่กับวิวสวยๆ ทุกวัน และมันก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว
ออนใต้…จากชุมชนเครื่องเคลือบโบราณ สู่บ้านแห่งผ้าผวย ที่ร่ำรวยอาหาร
ชุมชนออนใต้เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่อดีต หลักฐานคือที่นี่เป็นแหล่งทำเครื่องเคลือบศิลาดลที่มีชื่อว่า “เตาสันกำแพง” ได้รับอิทธิพลจากจีนคาดว่าอยู่ราวๆ ราชวงศ์ต้าหมิง จึงสันนิษฐานได้ว่าชุมชนนี้เริ่มทำถ้วยชามเครื่องเคลือบศิลาดลตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช และปล่อยให้เตาร้างไปเมื่อพระเจ้าบุเรงนองเข้ามาตีเชียงใหม่ ราว ปีพ.ศ.1984-2101 (1) ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อตอนมาตั้งชุมชนขุดเจอเครื่องถ้วยโบราณมากมาย แต่ในที่สุดก็เก็บไว้ที่บ้านไม่ได้ ต้องเอามาเก็บไว้ที่วัด
จากหลักฐานศิลาจารึกในศิลาที่ค้นพบที่วัดเชียงแสน (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดป่าตึง) พบว่าคนสันกำแพงชุมชนดั้งเดิมเดินทางมาจากพันนาภูเลา เชียงแสน หลังจากที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ 200 ปี โดยศิลาจารึกนั้นกล่าวถึงการที่พระเจ้า ศิริลัทธิมังกร มหาจักรพรรดิราช ให้หมื่นดาบเรือนมาสร้าง เจดีย์ วิหาร หอพระไตรปิฎก แล้วตั้งชื่อวัดว่า วัดสาลกัญญาณมหันตาราม ปัจจุบันคือ วัดเชียงแสน จากนั้นเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ก็ทำให้บ้านเมืองรกร้าง เมื่อมาถึงยุคของพระเจ้ากาวิละ ก็ได้ขับไล่พม่าและทำการฟื้นเมือง กวาดต้อนคนมาเป็นแรงงานของเมืองอย่างต่อเนื่องจาก เมืองยอง เมืองแถบลุ่มน้ำคง และ ลุ่มน้ำเขิน สิบสองปันนา (2) ชาวบ้านที่ชุมชนออนใต้ ส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มชาวไทลื้อ ไทเขิน ที่อยู่มานานจนกลืนกลายเป็นคนเมือง ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ คนบ้านนี้จึงอารมณ์ดี “หน้าหมด ตาใส” (หมายถึงหน้าตาผิวพรรณสดใส)
แม่ออนลดความสำคัญลงเมื่อมีการย้ายที่ทำการแขวงสันกำแพงมายังบ้านสันกำแพงในปี พ.ศ. 2446 แล้วเปลี่ยนชื่อจากแขวงแม่ออนเป็นแขวงสันกำแพง ยิ่งมีการตัดถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ยิ่งทำให้เกิดชุมชนหนาแน่นกว่าในตัวอำเภอสันกำแพง และอำเภอสันกำแพงก็โด่งดังในฐานะแหล่งผลิตผ้าไหม ผ้าทอ นักท่องเที่ยวรู้จักแม่ออนอีกครั้ง เมื่อการท่องเที่ยวที่บ้านแม่กำปองโด่งดัง การเดินทางไปยังแม่กำปองต้องผ่านมายังแม่ออน ทำให้ระหว่างทางมีร้านอาหาร ร้านกาแฟดีๆ มากมาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่จะเดินทางขึ้นไปยังแม่กำปอง
ชุมชนออนใต้ในวันนี้ เขียวด้วยน้ำท่าสมบูรณ์ ซึ่งนำพาไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และเกิดการพึ่งพาตัวเอง ที่นี่เหมาะแก่การไปเรียนรู้ และไปกิน รับรองได้ครบทั้งอาหารตา อาหารท้อง อาหารใจ มาดูกันว่า เราจะทำอะไรกันบ้างที่ชุมชนนี้
- ช้างเผือกของพระราชา
- เรียน…อร่อยที่ออนใต้ฟาร์ม
- สีธรรมชาติบนผืนผ้าที่ฟ้าใหม่แฮนด์ลูม
- สวนหม่อนศิริ มัลเบอร์รี่ออร์แกนิค
- เรียนปั้นถ้วยที่ ศูนย์การเรียนรู้วัดเชียงแสน
- รู้จักออนใต้ให้มากขึ้นที่พิพิธภัณฑ์วัดป่าตึง
- กาดนัดถนนคนเดินวันอาทิตย์
- เล็กดี รสโต ร้านเล็กในชุมชน
- อยากกาแฟ ริมหนองขี้หม่าฟ้า
- กินก๋วยเตี๋ยวชามโต เต๊ะท่าถ่ายรูป
- ชมศิลปะ ที่Chiang Mai Art Museum
- สวยรูป จูบหอม นาซิจำปู๋
- Rock & Loft กิน นอน หย่อนใจ ได้ครบ
เที่ยวชุมชน โทรติดต่อ คุณโย0849147111 และคุณจ้าวที่ 096 6985508
ช้างเผือกของพระราชา
เราเริ่มต้นทริปด้วยการขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วมาขึ้นรถที่หน้าร้านอยากกาแฟ ที่นี่เราได้พบกับน้องน้ำเขียวรถคอกหมูของชุมชนที่ใช้ในการนำเที่ยว พ่อไมตรีและพ่อเทียบพาเราเที่ยวในชุมชนออนใต้ ฉันสะดุดตากับกระเป๋าผ้าของพ่อเทียบอยากรู้ว่าแกพกมาทำไม เลยขอแกเปิดให้ดู ในนั้นเป็นรูปของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพเก่าเก็บมาก และคาดว่าทำมาแล้วหลายสำเนา และเอกสารที่พิมพ์ฟอนต์ขนาด 30 พอยต์กว่าๆ เย็บเล่มเก็บรักษาอย่างดี พ่อบอกว่านี่คือเรื่องราวของลูกช้างเผือกที่เกิดที่ป่าบ้านผาแหน และได้ถวายให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องมีอยู่ว่าพ่อแก้ว ปัญญาคง ได้ซื้อช้างพังอายุ 40 ปี ชื่อแม่คำป้อ ได้ผสมพันธุ์กับพลายบุญชู แล้วให้กำเนิดช้างที่มีลักษณะเป็นมงคล เมื่อสำนักราชวังมาตรวจก็พบว่าช้างน้อยเชือกนี้มีคชลักษณ์ที่ตรงกับช้างคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน พ่อแก้ว ปัญญาคงและครอบครัวจึงน้อมถวายช้างเผือกให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2509 ในภายหลังช้างเผือกตัวนี้ก็เสียชีวิต ด้วยโรคเบาหวานก่อนการเดินทางไปกรุงเทพมหานคร พ่อเทียบเล่าไปด้วยตาเจิดแสงเป็นประกายวิบวับ รับรู้ได้ถึงความตื้นตันใจของแก ท้ายๆ ทริปแกจึงพาเราไปดู อนุสรณ์สถานช้างเผือก บ้านแม่ผาแหน ซึ่งตั้งอยู่ในสถานีใบยาสูบแม่ผาแหน
เรียน…อร่อยที่ออนใต้ฟาร์ม
น้องน้ำเขียวพาเรามาจอดที่ออนใต้ฟาร์ม สวนเกษตรอินทรีย์ที่น้อมนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ของคุณโย ภิญโญ วิสัย และคุณจ้าว ฉัตรรุ่ง ประกอบไวทยกิจ ที่นี่มีการจัดสรรพื้นที่สวนหลังบ้านเป็นเกษตรท่องเที่ยว แบ่งเป็น 4 ส่วน คือที่อยู่อาศัย อาคารต้อนรับ แปลงผัก และลานกิจกรรม ด้านหน้ามีร้านกาแฟสวยๆ ที่นี่พร้อมมากสำหรับการจัดกิจกรรมแบบองค์กรใหญ่ๆ เพราะพื้นที่กว้างขวางมาก สวนหลังบ้านที่คุณโยว่านั้นก็กว้างใหญ่ไพศาลชนิดที่ว่าผักที่ปลูกนั่นไม่ใช่แค่กินกันในครอบครัว แต่สามารถตัดขาย เลี้ยงแขกที่มาพัก และมากินข้าวได้ตลอดปี คุณโยชวนเราไปเก็บผักมาทำอาหาร ผักที่ปลูกเป็นผักที่ไม่ใช้สารพิษ ไม่ใช้ปุ๋ย เพราะคุณโยมีความเชื่อว่าการเลี้ยงหรือบำรุงดินให้ดี ก็จะทำให้เราได้ผลผลิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีหรือปุ๋ยเคมีอะไร
“Feed the soil and let the soil feed the plant. We grow healthy food and future.”
นอกเหนือจาก การเวิร์คช็อปอาหาร ที่นี่ยังเป็นร้านอาหารพื้นบ้านที่ปรุงจากพืชผักอินทรีย์ที่ปลูกเอง ให้เราได้กินกันอีกด้วย อยากเที่ยวออนใต้ ทำกิจกรรมในชุมชน หรือกินอาหารที่ออนใต้ฟาร์มก็โทรติดต่อ คุณโย0849147111 และคุณจ้าวที่ 096 6985508
ติดต่อที่ FB : Ontai Farm
สีธรรมชาติบนผืนผ้า ที่ฟ้าใหม่แฮนด์ลูม
ชาวบ้านที่สันกำแพงรู้จักการทอผ้ามาตั้งแต่เด็กๆ รวมไปถึงกระบวนการทำสีต่างๆ ด้วย ที่ฟ้าใหม่แฮนด์ลูม เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนที่สนใจในการทอผ้า เริ่มตั้งแต่การเก็บฝ้าย ปั่นเป็นเส้นใย ย้อมสี ไปจนถึงการทอ ที่นี่ใช้สีธรรมชาติทั้งหมด เช่นใช้ไม้ฝาง ให้สีแดง ใช้เปลือกไม้ของต้นเพกาให้ได้สีเขียวเข้ม ใช้ไม้แก่นขนุนให้สีเหลือง ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทอผ้าซิ่นลายสันกำแพง และลายดอกแก้ว (ลายลูกแก้ว) และยังมีงานผ้าด้นมือและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย ให้เลือกซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก
ติดต่อที่ FB : Fahmai Handloom
สวนหม่อนศิริ มัลเบอร์รี่ออร์แกนิค
ีกที่หนึ่งที่ไม่แวะไม่ได้เลย คือสวนหม่อนศิริ มัลเบอร์รี่ ที่นี่เป็นทั้งสวน และที่ผลิตแปรรูปมัลเบอร์รี่หรือลูกหม่อน มีทั้งลูกหม่อนสด สมูทธตี้ลูกหม่อน ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ ที่จริงแล้วสิ่งที่ต้องจริตที่สุดเห็นจะเป็นส้มตำลูกหม่อน และยำลูกหม่อน แซ่บสะใจดี ความพิเศษของสวนนี้คือ คุณสามารถมาได้ตลอดปี เจอมัลเบอร์รี่ตลอดแน่นอนเพราะเขามีการวางแผนการปลูก การตัด การให้ผลผลิตแบบเวียนเป็นแปลงๆ ไป
ติดต่อที่ FB : สวนหม่อนศิริ มัลเบอร์รี่ Monsiri Mulberry
เรียนปั้นถ้วยที่ ศูนย์การเรียนรู้วัดเชียงแสน
วัดที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ คือวัดเชียงแสน ที่สร้างตั้งแต่ครั้งสมัยพระยอดเมือง กษัตริย์ลำดับที่ 11 ของราชวงศ์มังราย ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก ว่าพระเจ้า ศิริลัทธิมังกร มหาจักรพรรดิราช ให้หมื่นดาบเรือนมาสร้าง เจดีย์ วิหาร หอพระไตรปิฎก แล้วตั้งชื่อวัดว่า วัดสาลกัญาณหันตาราม เจดีย์ทรงพุกาม ตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัดนั้นยังคงสวยงาม ชาวบ้านเล่าว่าในพระธาตุมีเรือสะเปาคำ (เรือทองคำ) และรองเท้าทองคำที่สามารถทำให้คนเหาะเหินเดินอากาศได้ จึงเคยมีคนพยายามขุดหาสะเปาคำและรองเท้าแล้วโดนฟ้าผ่า จึงไม่มีใครกล้ามาแตะต้องค้นหาของเก่าที่เจดีย์องค์นี้อีก ส่วนวิหารนั้นเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน และกำลังมีการบูรณะใหม่โดยถอดแบบจากวัดต้นเกว๋น แทนหลังเดิม ในบริเวณวัดมีศูนย์การเรียนรู้เครื่องถ้วยสันกำแพงวัดเชียงแสน เขื่อว่าที่นี่เป็นตัวอำเภอเมืองสันกำแพง จึงเป็นที่มาของอัตลักษณ์ชุมชนรูปปลา ที่ได้มาจากเครื่องถ้วยสันกำแพงนี่เอง
รู้จักออนใต้ให้มากขึ้นที่พิพิธภัณฑ์วัดป่าตึง
วัดป่าตึงนั้นเดิมทีเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างรุ่นเดียวกับวัดเชียงแสน ต่อมาได้รับการบูรณะ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะหลวงปู่หล้าตาทิพย์ เกจิอาจารย์ดังแห่งล้านนา ภายในวัดจึงมีอาคารหลังใหญ่ที่เก็บรักษาร่างของหลวงปู่หล้าไว้ให้คนรุ่นหลังกราบไหว้บูชา นอกจากนี้ส่วนของศาลายังมีภาพเขียนที่สวยงามโดยศิลปินท้องถิ่นเล่าเรื่องประเพณี 12 เดือนของล้านนา ซึ่งที่นี่ยังคงรักษาประเพณีที่หาดูได้ยากเหล่านี้ไว้อยู่ ทั้งการฟ้อนผี ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของวัดคือ พิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่เก็บเครื่องเคลือบโบราณที่ขุดพบ และศิลาจารึกต่างๆ พร้อมคำแปลที่ถอดความโดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ขุดค้นพบศิลาจารึกเป็นหินโผล่ขึ้นมาชาวบ้านไม่รู้พยายามใช้มีดฟันอาหินไปใช้ลับมีด ภายหลังพอขุดค้นพบศิลาจารึกแหว่งด้านบน คาดว่า หินที่แหว่งไปคงไปอยู่ที่บ้านใครบางคน (ไฮโซมาก มีหินลับมีดเป็นหินศิลาจารึก)
กาดนัดถนนคนเดินวันอาทิตย์
บนถนนใจกลางชุมชน ในเวลาเช้าวันอาทิตย์ มีชาวบ้านเอาสินค้ามาวางขาย ยาวตลอดสายร่วม 1 กิโลเมตร มีทั้งของสด ของแห้ง ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน เริ้มขายกันตั้งแต่เช้าตรู่ คือ 6.00 น. ไปจนกระทั่งใกล้ 10.00 น. ตลาดก็เริ่มวาย เป็นตลาดที่เดินเพลินมาก ที่สำคัญ ตลาดนี้มีโยคีอารมณ์ดี นั่งเป่าขลุ่ยให้ฟังด้วย เดินสนุกมากๆ อย่าพลาดเชียว
เล็กดี รสโต ร้านเล็กในชุมชน
เมื่อเป็นหมู่บ้านที่มากด้วยอาหาร จึงพลาดไม่ได้ที่จะพูดถึงร้านอาหารเล็กๆ ที่อยู่คู่กับชุมชนเป็นที่พึ่งยามหิว ร้านแรก คือร้านก๋วยเตี๋ยวป้าซ้อ ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ขายในชุมชนมา 3 ปี ร้านป้าซ้อขายทั้งก๋วยเตี๋ยวและข้าวซอย
และอีกร้านหนึ่งน้องใหม่ที่กำลังเปิดและพัฒนาพื้นที่ ที่เจ้าของทุ่มเต็มที่ ทั้งในเรื่องรสชาติของอาหาร และจัดการเรื่องความสะดวกสบายในการนั่งกิน ขอบอกว่าที่นี่ วิวด้านหลังเป็นทุ่งข้าวเขียวๆ มีต้นตาลสูงๆ พาดทับฟ้าสีฟ้าๆ สวยมาก เป็นวิวกินส้มตำที่ได้อรรถรสมาก
ชื่อร้าน ตำส้มหนมเส้น (เฮือนไม้@ฮิมออน) เจ้าของเล่าให้ฟังว่าเพิ่งเปิดก่อนโควิดนี่เอง ในเวลาที่โพสตอนนี้ร้านคงพร้อมมากแล้ว ไปลองกัน ตำกระท้อนปลาแห้งดีมากให้ภาพเล่าเรื่องเลย
เปิด 10.00-18.00
ติดต่อFB : เฮือนไม้ฮิมออน
0654789552 พี่พิน
อยากกาแฟ ริมหนองขี้หม่าฟ้า
จุดนัดพบของชุมชน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ร้านอยากกาแฟมีอาหารและขนมขายหลากหลายมาก ตั้งแต่กะเพราไปจนสปาเก็ตตี และกาแฟ ขนมหวาน ไปจนถึงบิงซู ชนิดที่เราเห็นเมนูแล้วตาโตว่า นี่ทำหมดนี่เลยเหรอ ขยันมาก ในราคาที่ดีมากๆ ด้วย ในวันเสาร์อาทิตย์ที่นี่จึงมีทั้งคนที่อยู่ที่นี่ และนักท่องเที่ยว มาใช้เวลา นั่งเล่น เลี้ยงปลา พ่อเทียบไกด์ชุมชนเล่าให้ฟังว่าหนองน้ำนี้เดิมชื่อ หนองขี้หม่าฟ้า แล้วมาเปลี่ยนชื่อทีหลังว่าหนองพญาพรหม ยังไม่ทันได้คุยกันดี อาหารมาถึงก่อนเลยลืมไปเลย คราวหน้าจะมาถามพ่อเทียบว่าหนองพญาพรหมคืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ต้องจัดการอาหารตรงหน้าก่อน หน้าตาดี และรสชาติดีมาก คิดว่าถ้าอยู่ในเมืองคงป๊อบน่าดู เพราะร้านก็สวยดีมีรสนิยม
ติดต่อFB: อยากกาแฟ
กินก๋วยเตี๋ยวชามโตชมทุ่ง เต๊ะท่าถ่ายรูป
ร้านกาแฟที่วันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์คนแน่นมาก เป็นร้านโปรดของนักท่องเที่ยว เพราะมีอาหารหลากหลาย ทั้งก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง กาแฟ ไอศกรีม เบเกอรี่ เรียกว่าเอาใจคนทุกช่วงวัยในครอบครัว มีสวนกว้างๆ ให้เด็กๆ วิ่งเล่น มีหุ่นตามจุดต่างๆ ให้เต๊ะท่าถ่ายรูป สนุกดี นี่ขนาดไม่ชอบถ่ายรูป ยังไปแจมเขาเลย 555 ส่วนก๋วยเตี๋ยวนั้นก็ชามโตอย่างที่เห็น
ติดต่อFB: ก๋วยเตี๋ยวชามโต ชมทุ่ง
ชมศิลปะ ที่Chiang Mai Art Museum
มีเพื่อนเป็นศิลปินหลายคน ที่มาฝากงานไว้ที่นี่ เมื่อช่วงที่เปิดได้ยินว่าเขามีแผนที่จะทำ พื้นที่นี้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 10 อาคาร ครั้งนี้ไปถึง ยังมี 2 อาคาร คาดว่าทางพิพิธภัณฑ์ คงจะค่อยๆ สร้างไปเรื่อยๆ ด้านหลังเป็น ที่พักของเหล่าศิลปิน มาสร้างงานกัน นั่งคุยกันสนุกสนาน ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ เป็นร้านกาแฟ ชื่อ Naive Café in Art ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ดูดีมีอารยะมาก จัดวางงานได้สวยงาม มีจังหวะจะโคน ตลอดตั้งแต่ทางเดินเข้าไปจนถึงด้านหลัง อยากชวนมากัน
ติดต่อFB: Chiang Mai Art Museum
สวยรูปจูบหอมที่ นาซิจำปู๋
ร้านอาหารที่เป็นแฟนคลับมานาน ไม่ว่าพี่เขาจะย้ายไปที่ไหน เราก็จะตามไปกินอยู่ดี เพราะนอกจากอาหารจะสวยแล้ว ยังรสชาติดี แม่ครัวเขาขยันหาวัตถุดิบที่สดใหม่ นำมาสร้างสรรค์ลงจาน จัดแจงสีสันและรสชาติออกมาเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่า สั่งอาหารจานหนึ่ง มันมีความเพลิน มีความสนุกไม่มีเบื่อ อย่างยำเขย่า กระเจี๊ยบแฮม ที่มาพร้อมขวดก่อนกินก็เขย่าแล้วแทลงจาน ถ้ามัวแต่คุยกัน ยังไม่ได้กิน ถ้าไม่เขย่า ยำไม่มีเซ็งแน่นอน ที่ชอบและเขามักจะผลัดเปลี่ยนวัตถุดิบเอามายำ คือ แฮมสันนอกหมูรมควันยำเมี่ยงกระท้อน ช่วงที่สตรอเบอร์รี่ออกมากๆ เขาก็เอาสตรอเบอร์รี่มายำ อร่อยมากๆ จานนี้แนะนำ เจ้าของร้านกระซิบมาว่า ตอนนี้พี่เอาปลาทูเค็ม ซึ่งเป็นปลาทูมันดองเอง ทำสไตล์ไทใหญ่ อร่อยมากกินกับข้าวเพลินไม่รู้เรื่องเลย อันตรายกับรอบเอวมาก
ติดต่อFB: นาซิจำปู๋
Rock & Loft Cafe and Resort
ร้านกาแฟและร้านอาหารทรงลอฟท์สวยๆ ด้านหลังเป็นที่พัก มีเมนูอาหารเยอะมาก และที่สำคัญมันอร่อย ที่ชอบมากๆ คือ ขนมจีนน้ำยาปู ส่วนหลานๆ ที่ไปด้วยเป็นสายพลัง ชอบพวกของหวานและ กะเพราถาด ร้านนี้ตอบโจทย์ดี ถ้าเรามีสมาชิกหลายคนเพราะที่นั่งเยอะมีหลากหลายแบบ เลือกเอาตามชอบ หลังคาโปร่งโล่งสบาย สวยทุกมุมสายถ่ายเซลฟี่จะสนุกสุด ใครมาเป็นหมู่คณะจัดสัมนาก็สามารถใช้ห้องด้านข้างมีฉากโปรเจ็คเตอร์เรียบร้อย เน็ทแรง แอร์เย็น จัดว่าเป็นโอเอซิสในฤดูร้อน ของพื้นที่บริเวณนี้ ร้านจะเลือกใช้สินค้าในท้องถิ่น เช่นกาแฟก็ใช้กาแฟจากเทพเสด็จ วัตถุดิบต่างๆ ก็ซื้อหาในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่
ติดต่อ FB: Rock&Loft Cafe and Resort
ท่องเที่ยวชุมชนออนใต้ โทรติดต่อ คุณโย0849147111 และคุณจ้าวที่ 096 6985508
วีดีโอท่องเที่ยวชุมชนออนใต้
https://youtu.be/nXQ-c05M5ao
หนังสืออ้างอิง
1.คอลัมน์ ล้านนาคำเมือง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 – 15 พฤศจิกายน 2561
2.อดีตสันกำแพง โดย พันตำรวจเอก อนุ เนินหาด
3. เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร อดีต ปัจจุบัน และอนาคต: สมโชติ อ๋องสกุล (อ่านประกอบ)