ภาพทั้งหมดโดย ฉัตรชัย ยิ้มแย้ม
“ดอยเต่า” แต่ก่อนคนจะคิดถึงพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีใครอยากอยู่ ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น เส้นทางไปก็แสนจะลำบาก จากเชียงใหม่ขับรถเกือบสองชั่วโมงเหมือนไม่ได้อยู่ในจังหวัดเดียวกัน แต่เอ๊ะ ดอยเต่ามีอะไร ในเวลานี้ทางรัฐถึงผลักดันการท่องเที่ยวดอยเต่า มีหลายโครงการทั้ง Charming Chiang Mai ที่เลือกดอยเต่ามาเป็นเมืองท่องเที่ยว เรามาทำความรู้จักดอยเต่ากันให้ลึกซึ้งดีกว่าว่าดอยเต่าแท้จริงแล้วมีอะไร

พี่วัฒน์ชาวประมงดอยเต่ากำลังกู้ลอบเอาปลาในทะสาบดอยเต่า
เที่ยวดอยเต่า(คลิ้กตามหัวข้อที่ต้องการอ่าน)
ตามหาเมืองเก่า
พลเมืองดอยเต่าแต่เดิมนั้นกระจายตัวอาศัยอยู่แถบแม่น้ำหาด แม่น้ำปิง โดยคนจะหนาแน่นหน่อยช่วงแม่น้ำปิง แต่เดิมชาวบ้านดอยเต่าทำนา ปลูกข้าว ปลูกยาสูบ และเลี้ยงครั่ง เอาสินค้าลงเรือส่งไปขายที่เมืองตากและปากน้ำโพ อ้ายหนานไกด์ประจำตัวซึ่งเป็นคนดอยเต่าเล่าว่า เคยมีคนเล่าต่อๆ กันมาว่าคนดอยเต่าเป็นคนที่ตกค้างจากทัพของพระนเรศวร อาจจะเป็นกองสะเบียงที่ทำหน้าที่ปลูกข้าวปลูกนา และส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนจากสุพรรณภูมิเพราะยังมีสำเนียงการพูดเหน่อ ข้อมูลตรงนี้ลองไปค้นแล้วยังไม่เจอหลักฐานอะไร แต่เรื่องการค้าขายที่นี่น่าจะเป็นแหล่งค้าขายครั่ง เพราะมีบ้านหนึ่งชื่อบ้านท่าครั่ง น่าจะมีการเลี้ยงครั่งและซื้อขายครั่งกันที่นี่มาก

แผนที่บ้านมืดกาตะวันตกจากความทรงจำของพ่อน้อยเลื่อน แม่น้ำด้านบนของภาพคือแม่น้ำปิง และด้านล่างคือน้ำแม่ลาย
แต่ก่อนอำเภอดอยเต่ายังอยู่ในเขตของอำเภอฮอด แยกออกมาเป็นอำเภอเมื่อ 25 มีนาคม พ.ศ. 2522 เมื่อมีการสร้างเขื่อน ภูมิพล ในปี 2504 โดยสร้างแล้วเสร็จในปี 2507 ทำให้ในปี 2506 ชาวบ้านดอยเต่าหลายหมู่บ้านต้องอพยพครัวเรือนไปอยู่ในพื้นที่ที่ทางการจัดให้ เพราะน้ำในเขื่อนเอ่อล้นมาท่วมบ้านเรือนที่ทำกิน บางบ้านหนีไม่ทันข้าวของต่างจมน้ำ คนที่ย้ายไปก็ได้ค่าเวนคืนที่ดินราคาไร่ละ 400 บาท บางคนที่ร่ำรวย ก็ไม่อยากอยู่ที่เดิมเพราะที่ดินจัดสรรนั้นส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายปลูกอะไรก็ยาก คนที่มีอัฐน้อยก็อาศัยอยู่ต่อไป เมื่อลองไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ท่านก็เล่าให้ฟังว่าทางการได้อพยพผู้คนไปบนพื้นที่ที่จัดสรรที่ไหนบ้างเป็นความรู้ต่อยอดจากแผนที่บ้านมืดกาจากความทรงจำของพ่อน้อยเลื่อน ที่วัดปัจฉิมการาม แปลง 2
ภาพเขียนประเพณีวิถีชีวิตของชาวบ้านมืดกาตะวันตกแต่ก่อน
บ้านที่ย้ายจากพื้นที่น้ำท่วมได้แก่
•บ้านงิ้วเฒ่าย้ายไปบ้านแปลง 4
•มืดกาตะวันตก บ้านตีนดอยย้ายไปบ้านแปลง2
•บ้านมืดกาตะวันออกย้ายไปบ้านแปลง1
•บ้านชั่งย้ายไปบ้านแปลง 8
•บ้านหนอง ย้ายขึ้นมาข้างบนนิดหน่อยใช้ชื่อว่าบ้านหนองบัวคำ (แต่ย้ายวัดไปที่ลี้ที่นั่นจึงมีวัดหนองบัวคำ) อีกครึ่งหนึ่งอยู่บ้านแปลง 5
•บ้านท่าครั่งกระจายตัวย้ายไปบ้านแปลง 3 โปงทุ่ง แม่สอด บ้านสามหลังจอมทอง
•บ้านท่าเดื่อ จัดสรรมาอยู่บ้านแปลง 5 และบ้านหนองผักบุ้ง
•บ้านโท้งปราสาท ย้ายมาเป็นบ้านโท้ง
•บ้านน้อย ยกบ้านมาสร้างบ้านที่แปลง 14
•บ้านนาแก่ง ย้ายไปห้วยหินดำ ตำบลนาคอเรือ อ.ฮอด
•บ้านแอ่น ย้ายไปบ้านแอ่นจัดสรร บ้านแอ่นดงถ่าน บ้านแอ่นห้วยจว้า
•บ้านวังหม้อ ย้ายขึ้นมาตั้งบ้านวังหม้อ
•บ้านหนองอีปุ้ม ย้ายไปบ้านห้วยทรายแล้ง และทุ่งโป่ง อ.ฮอด
ข้อมูลจาก
-พ่อบุญมี ทาวงษ์ ปราชญ์ชุมชนบ้านโปงทุ่ง
-หนังสือ เล่าขานตำนานดอยเต่า โดย ดร.วิทยา พัฒนเมธาดา

ขึ้นเรือที่ต้าสูน เพื่อสำรวจทะเลสาบดอยเต่า ราคาเรือ น้องเจ เที่ยวชมรอบเกาะ 600 -800 บาท ติดต่อน้องเจได้ที่เบอร์ 0979905112
ฝั่งที่เราเห็นเป็นพระธาตุฝั่งตรงกันข้ามแพขายอาหารคือ พระธาตุดอยเรือและพระธาตุดอยเกิ้ง ซึ่งพระธาตุดอยเกิ้งนี้อยู่มานานตั้งแต่ก่อนน้ำจะท่วม เป็นสัญญลักษณ์ของดอยเต่าด้วย ด้วยเหตุที่พระธาตุดอยเกิ้งทางขึ้นลำบากมาก จึงมีพระธาตุดอยเรือคล้ายจำลองพระธาตุดอยเกิ้งให้คนได้สักการะกันง่ายๆ
ส่วนที่น่าสนใจที่เราจะไปสำรวจกัน ว่ากันว่าทางไปยาก คือฝั่งที่เรียกว่าตำบลมืดกาตะวันตก มีบ้านดอยหลวงและดอยแก้ว เป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามาอยู่นานกว่า 300 ปีแล้ว
มืดกา…ไม่มืดมน

จุดชมวิว ณ จุดสูงสุดของบ้านดอยหลวง
ครั้งนี้เรามาสำรวจตำบลมืดกา ที่นี่ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ซึ่ง 3 หมู่บ้านอยู่ฝั่งอำเภอดอยเต่า และ อีก 2 หมู่บ้านคือ บ้านดอยหลวงและบ้านดอยแก้วต้องนั่งเรือข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบดอยเต่า โดยมีจุดขึ้นรถที่บ้านท่าบ่อแร่สามารถเอารถยนต์ลงเรือเฟอร์รี่ข้ามไปอีกฝั่งได้ แต่ไม่ค่อยแนะนำ เพราะเส้นทางค่อนข้างลำบาก ควรมีคนนำทางคือพ่อหลวงตู่ เป็นคีย์แมนที่จะทำให้คุณไปบ้านดอยหลวงและดอยแก้วอย่างสะดวกโยธิน ติดต่อได้ที่เบอร์ 09 5221 9678 ราคาเรือเฟอร์รี่ เอารถข้ามไปดอยหลวง ไปกลับคันละ 400 ติดต่อที่น้องเจอีกเหมือนกัน ที่เบอร์ 09 7990 5112

พ่อหลวงตู่ ผู้ไม่เคยพบทางตันในการเดินทาง
เที่ยวตำบลมืดกา
ชื่อมืดกาเป็นชื่อหมู่บ้านเดิมก่อนที่จะจมหายไปกับน้ำ หมายถึงเมื่อค่ำลงบ้านนี้ก็มีฝูงนกกากลับมานอนที่หมู่บ้านนี้ แต่เดิมแบ่งเป็นบ้านแม่ก๋าดอนไจ หรือบ้านมืดกาตะวันออก (อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำปิง) และบ้านมืดกาตะวันตก (อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิง) ปัจจุบันนี้บ้านมืดกาตะวันออกย้ายมาอยู่บ้านแปลง1 และบ้านมืดกาตะวันตกย้ายมาอยู่ที่บ้านแปลง2 ส่วนบ้านแปลง 4 นั้นเป็นชาวบ้านจากบ้านงิ้วเฒ่า การเที่ยวบ้านมืดกา จึงได้ทั้ง การเดินชมวิถีชีวิตของชาวบ้านพื้นราบ ล่องเรือ ขับรถออฟโรดเข้าป่าขึ้นดอยสูง มีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกทีสวยงามอยู่หลายจุดเราจึงอยากพาคุณเดินทางตามตะวัน ตามหาแสงที่บ้านมืดกา
ย้อนอดีตมืดกาที่วัดปัจฉิมการามแปลง 2
วัดปัจฉิมการาม ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านบอกว่า วัดนี้เดิมอยู่ที่บ้านมืดกาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ในยามบ่ายคล้อยเย็น เงาของวิหารและพระธาตุจะตกทาบทับลงบนน้ำ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดมืดกาแยงเงา (ในหนังสือเล่าขานตำนานดอยเต่า เรียกว่า วัดจำป๋าแยงเงา) มีของสำคัญคือหงส์ลงรักปิดทองปัจจุบันนี้ก็ย้ายมาเก็บไว้ที่วัดปัจฉิมการามแห่งนี้ด้วย ภายในวัด มีจิตรกรรมภาพวาดบ้านมืดกาตะวันตกจากความทรงจำของพ่อบุญเลื่อน เลิศสุวรรณไพศาล และเทศกาลประเพณีของชาวบ้านมืดกาก่อนน้ำท่วม ซึ่งพ่อน้อยเลื่อนเล่าให้ฟังว่า “ตอนสิบกว่าขวบ ผมจำได้ว่าตอนนั้นทางการเวนคืนค่าที่นา 450 บาทต่อไร่ ตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้สนใจว่าพ่อแม่ขายได้เงินเท่าไหร่ จำได้ว่าบางคน กำลังเกี่ยวข้าว น้ำก็ค่อยๆ ขึ้น บางคนก็หนีไม่ทัน น้ำ ตายไปบ้างก็มี ส่วนใหญ่เป็นพวกที่เป็นห่วงของ รูปที่วาดมาคือภาพหมู่บ้านที่ผมจำได้” ภาพวาดแผนที่ชุมชนก่อนน้ำท่วม ที่พ่อน้อยเลื่อน บอกเล่าให้ช่างวาดทำให้เห็นชุมชนคนเมืองเก่าคร่าวๆ ทั้งตำแหน่งใจบ้าน ตำแหน่งวัด และอุโบสถที่อยู่แยกจากวัด ตำแหน่งน้ำแม่ลายด้านล่างและแม่ปิงด้านบนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ขันของคนเมืองอย่างเรื่องชื่อสร้อย หรือฉายาของคนในชุมชน ไม่มีใครประนามว่าบูลลี่กันด้วย ชาวบ้านเองก็ไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ในการถูกเรียกแบบนี้ ถามว่าพ่อน้อยเลื่อนมีฉายากับเขาบ้างไหม แกว่าไม่มีเพราะยังเด็ก ตอนนั้นเป็นสามเณรอยู่เลยไม่มีใครทันได้ตั้งฉายา
เรียนรู้การทอผ้าฝ้าย
เรียนรู้เรื่องการทอผ้ากลุ่มทอผ้าบ้านแปลง 2 เริ่มตั้งแต่การเก็บฝ้าย แกะฝ้าย อีดฝ้าย ปั่นฝ้าย และการทอผ้า ตอนที่น้ำท่วมนั้นชาวบ้านเก็บผ้าเก็บกี่มาไม่ทันล้วนถูกน้ำท่วมหมด เหลือไว้เพียงภูมิปัญญาในการทอผ้า ปัจจุบันนี้มีกลุ่มช่างทอพยายามฟื้นลายผ้าทอรุ่นก่อนที่น้ำจะท่วม เรียกว่า ผ้าทอ “น้ำถ้วม” ดอยเต่า
ชีวิตปลอดสารที่สวนลมหายใจ
จากแบรนด์เสื้อผ้า สาธุ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก แบงค์ ศักดิ์สรัญ ดวงอินทร์มาเปิดบ้านสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับคนในชุมชน และมีที่พัก เพื่อให้เป็นพื้นที่ ที่หลายๆ คนได้มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิด ความฝัน และใช้ชีวิตอยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ ตั้งแต่การปลูกข้าว เกี่ยวข้าว เก็บผักมาทำอาหาร ที่นี่ยังมีร้านอาหารและร้านกาแฟอยู่ในบริเวณเดียวกันอีกด้วย
ล่องทะเลสาบดอยเต่า
–ซื้อปลาแห้งจากทะเลสาบดอยเต่าที่ศูนย์ซื้อขายสินค้าที่ท่าศูนย์ หรือชาวบ้านเรียกต้าสูน
–ล่องทะเลสาบดอยเต่าชมวิถีชีวิตชาวประมง นั่งเรือวนชมพระธาตุดอยเกิ้ง และถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน
นั่งเฟอร์รี่ไปดอยหลวง–ดอยแก้ว
จากท่าบ่อแร่ที่ฝั่งตัวเมืองดอยเต่านำรถลงโป๊ะ หรือเฟอร์รี่ เพื่อข้ามไปยังฝั่งแพของลุงเบิ้ม แล้วขับรถขึ้นไปที่บ้านดอยหลวงดอยแก้ว ชมธรรมชาติโดยรอบ และชมพระธาตุจอมสติ น้องเจอีกเหมือนกัน ที่เบอร์ 09 7990 5112
ตามเก็บแสงที่บ้านดอยหลวง
ภาพ ณ จุดชมวิวติดกับเจดีย์เจ้าฟ้าพญาธรรม
บ้านดอยหลวงนั้นอยู่ลึกเข้าไปบนดอย จนยากจะเชื่อว่าในพื้นที่ที่เข้าถึงยากแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่มานานกว่า 300 ปี ปัจจุบันทั้งดอยหลวงและดอยแก้วก็ยังไม่มีไฟฟ้า ยังคงใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์และพลังงานทดแทนอยู่ การเดินทางต้องอาศัยคนพื้นที่ที่ชำนาญนำทางเข้าไปเท่านั้น โดยการเดินทางจะขึ้นไปยังจุดสูงสุดของดอยหลวงก่อนเพื่อชมพระอาทิตย์ตกยามเย็นในวิว 360 องศา ซึ่งเราได้พบกับพ่อหลวงคนสำคัญของดอยหลวงดอยแก้ว นั่นคือ พ่อหลวงตู่ พ่อหลวงเล่าให้เราฟังว่า “ไม่มีใครอยากจะมาอยู่แถวนี้ มันกันดาร ฝนตกก็ไม่มีใครขึ้นมา พัฒนาก็ยาก” เป็นคำพูดของพ่อหลวงตู่ บ้านดอยหลวง ขณะที่ขับรถพาเราทะยานขึ้นดอยหลวง สำหรับพ่อหลวงแล้วไม่มีคำว่าทางตันบนดอยแห่งนี้ เขารู้จักมันทุกซอกทุกมุม
อย่างที่พ่อหลวงบอก ทางยากขนาดนี้ ห่างไกลความเจริญขนาดนี้ ทำไมยังมีกลุ่มคนสามารถอาศัยอยู่ยาวนานกว่า 300 ปี สำหรับคนที่อยู่ในเมืองจนชินอย่างเราคงยากจะเข้าใจ
เที่ยวไร่กาแฟ
เก็บกาแฟกับชาวปะกาเกอญอในสวน ช่วงหลายปีมานี้พ่อหลวงตู่ชวนชาวบ้านปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่า เพราะถ้าชาวบ้านได้เงินจากกาแฟ ก็จะพยายามรักษาพื้นที่ปลูกกาแฟ เท่ากับการรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้วย ปีนี้หลายบ้านก็เริ่มมีผลผลิตออกแล้ว บ้านดอยหลวงมีความสูงที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟผลผลิตเลยงามเป็นพิเศษแต่อาจจะต้องการองค์ความรู้ในการทำกาแฟอีกหน่อย การเดินทางต้องมาในช่วงเดือนธันวาคม–กุมภาพันธ์

ไหว้เจดีย์เจ้าฟ้าพญาธรรม
สักการะเจดีย์เจ้าฟ้าพญาธรรม พ่อหลวงพาเราไปที่จุดสิ้นสุดของดอยเต่า ที่เชื่อมต่อกับอำเภอสามเงาจังหวัดตาก มีเจดีย์ขนาดย่อมๆ ชื่อว่าเจดีย์เจ้าฟ้าพญาธรรม ถอยลงมาด้านล่างอีกนิดเป็นจุดชมวิว 360 องศา เรานั่งดูพระอาทิตย์ตกดิน เป็นชั่วโมงๆ อากาศหนาว ลมเย็นมากๆ พอถ่ายรูปทำภาระกิจต่างๆ เรียบร้อยก็ลงไป นอนที่บ้านพ่อหลวง

นอนบ้านพ่อหลวง
พักผ่อนที่จุดกางเตนท์และที่พัก บริเวณอนามัยของหมู่บ้าน เรานอนกันที่บ้านพ่อหลวง หน้าบ้านแกมีลานชมพระอาทิตย์ขึ้น ด้านข้างของบ้านแกมีอนามัย ด้านในโล่งเหมาะแก่การปูผ้าหลับนอน ด้านในมีที่นอนผ้าห่มเพียงพอสำหรับคนราวๆ 5-6 คน ลานด้านหน้าสามารถปักเต้นท์ได้
รับประทานอาหารเย็นแบบชาวปะกาเกอญอ อาหารเย็น แม่พ่อหลวงเตรียมอาหารไว้แบบจัดเต็มมาก ยำยอดผักที่เราไม่รู้จักชื่อ อร่อยมาก เปรี้ยวๆ มันๆ มาพร้อมน้ำพริก ไข่เจียว และที่ชอบมากคือ เห็ดลมฉีกฝอย เอามาชุบแป้งทำเป็นแพทอด อร่อยมาก กินแกล้มเหล้าต้มของพ่อหลวง อากาศหนาวแบบนี้ เหล้าทำให้อุ่นมากๆ
สักสองทุ่มวงอาหารวงเหล้า ก็ย้ายเปลี่ยนมาล้อมวงนั่งฟังเรื่องเล่า เรื่องดาวจากย่าดอกที่กำลังพ่นควันฉุยจากกล้องยาสูบอย่างสบายใจ ย่าสอนการดูดาวให้เด็กๆ ด้วย ตัวเราเองก็เลยได้ฟังไปด้วยเพลินๆ ย่าบอกว่าถ้าหลงป่าเวลากลางคืนให้ตามหาดาวค้างคาวซึ่งอยู่ทิศใต้ เมื่อเจอดาวค้างคาวแล้วจะจับทิศได้ แต่ถ้าหลงกลางวัน เผลอไปข้ามใบไม้บางอย่าง หรือข้ามเครือเขาหลงเข้า ให้กลับเสื้อด้านนอกไปไว้ด้านใน แล้วจะไม่หลง ย่าชี้ไปที่กลุ่มดาวทางฝั่งตะวันออกแล้วบอกว่าเชียงใหม่อยู่ทางนี้ เรียกว่ากลุ่มดาวช้าง ส่วนกรุงเทพ อยู่ทางทิศตะวันตก เรียกว่ากลุ่มดาวกะกะ เป็นภาษากะเหรี่ยง น้องส้มโอเองก็แปลให้เราไม่ทันเหมือนกัน
บนดอยหลวงดาวกระจายไปทั่วฟ้าเห็นชัดมากเพราะที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ดาวจึงระยิบสุกใสเหมือนจะร่วงลงมา มีดาวตกเป็นบางครั้งบางคราว เรานั่งฟังเรื่องเล่าดูดาวสักพัก ก็ขอตัวเข้านอน
ตืนเช้ามาก็พบกับพระอาทิตย์ดวงโต ขึ้นที่หน้าบ้านของพ่อหลวง จิบกาแฟไปชมวิวไป ก็ได้กลิ่นหอมของข้าวหลาม และข้าวเบอะ
ชิมข้าวเบอะ ข้าวต้มแซ่บกลางดอยหลวง
ข้าวเบอะเป็นอาหารที่พี่น้องชาวกะเหรี่ยงกินกันบ่อยๆ แต่ละบ้านก็ทำไม่เหมือนกัน ข้าวเบอะที่บ้านนี้ รสชาติจัดจ้านกินแล้วเผ็ดร้อน อุ่นทะลุหมอกสู้อากาศหนาวๆ ได้เลย สูตรนี้ น้องส้มโอ ทิพวรรณ เงินโยง น้องสาวของพ่อหลวงตู่ถ่ายทอดสูตรมาจากแม่ น้องเป็นลูกคนสุดท้อง พอพี่ๆ แต่งงานเลยต้องรับผิดชอบทำอาหารแทน น้องบอกว่าหน้าที่ของลูกผู้หญิงคือ ต้องหุงข้าวเป็น ป.5 ก็ต้องหุงได้แล้ว ไปโรงเรียนกลับมาก็ให้อาหารไก่ ให้อาหารหมู ดูว่าในบ้านมีน้ำเต็ม พอให้คนในบ้านใช้ไหม วันไหนถ้าลืมทำก็จะโดนแม่บ่น โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกสาวคนโตต้องดูแลทุกคนในบ้าน
ส่วนข้าวเบอะสูตรนี้นั้นแตกต่างจากบ้านอื่นเพราะบ้านนี้ตำนำ้พริกตำขมิ้นสดใส่เข้าไปด้วยและหมูต้องย่างและรมควันทิ้งไว้ก่อนเพื่อให้มีกลิ่นหอม มาดูสูตรที่น้องให้ไว้กัน
***ข้าวเบอะสูตรบ้านดอยหลวง***
วัตถุดิบ
พริกแห้ง
กระเทียม
เกลือ
ขมิ้น
เนื้อหมูแห้ง เอาปิ้งรมควันก่อน
• ผัก
มีอะไรก็ใส่ ใส่หน้อไม้ ผักกาด
• กลุ่มผักหอม
ผักอิหลืน ใบกำปองแลที่ต้องลนไฟก่อนให้หอมแล้วค่อยขยี้ใส่ ใบชะพลู
***วิธีทำ***
1. ข้าวต้องต้มนานๆ ให้เปื่อย เพราะข้าวดอยนั้นแข็งกว่าข้าวพื้นราบ
2. ตำพริก กระเทียม ขมิ้น เกลือ ด้วยกัน เอาใส่ลงในข้าวต้ม
3. หั่นหมูรมควันใส่
4. ใส่ผักที่หาได้
5. ใส่พวกผักหอม ขาดไม่ได้เลยคือ ผักอีหลืนหรือ ห่อวอ และใบกำปองแลลนไฟ
สุกแล้วก็ตักใส่ถ้วย รสออกเค็มเผ็ด อร่อย อุ่นร้อนยามเช้า น้องบอกว่าถ้ามาเที่ยวก็จะทำให้กินกันแบบนี้เลย ขอบอกว่าอร่อยมากกกกกกกกก
เสน่ห์ดอยแก้ว
หากเราเอารถขึ้นโป๊ะจากทะเลสาบดอยเต่า ฝั่งตัวเมืองดอยเต่า เข้าไปอีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบก็จะเจอกับเจดีย์เก่า และโป๊ะลุงเบิ้ม เอารถขึ้นไปก็จะผ่านดอยแก้วแล้วถึงจะเป็นดอยหลวง แต่ครั้งนี้เราเดินทางกับพ่อหลวงตู่เลยคิดว่าสะดวกกว่าที่จะเข้าดอยหลวงก่อนแล้วค่อยย้อนมาดอยแก้ว ดอยหลวงกับดอยแก้วอยู่ห่างกันไม่มาก เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงเหมือนกัน ดอยหลวงมีธรรมชาติที่สวยงาม แต่ที่ดอยแก้วจะมีความเรียลในวิถีชีวิตแบบหมู่บ้านที่ไม่เคยมีคนเข้าถึง

สิ่งที่ชอบมากคือบ้านที่นี่จะเป็นกลุ่มบ้านไม้ที่หลังไม่ใหญ่มาก หรือไม่ก็มีบ้านที่หนึ่ง มีครัวอีกหลังหนึ่งเชื่อมหากัน หมู่บ้านสวยสะอาดสะอ้านดี เรามาถึงช่วงสายเป็นช่วงที่แม่บ้านเอากี่เอวมาผูกไว้ข้างบ้านนั่งทอผ้ารับแดด พอถามว่าทอไปขายที่ไหน เขาก็บอกว่าทอให้ลูกให้หลานใส่ นอกจากนี้ยังไปเจอบ้านที่เขาทำผ้าจากใยธรรมชาติและสีที่ทำจากธรรมชาติทั้งหมด อยากจะซื้อแต่ไม่อยากแย่งใครเพราะเหลือผืนเดียว จับคู่สีสวยคลาสสิคมาก
เดินมาอีกหน่อยเจอคุณแม่กำลังตำข้าวให้ไก่ จังหวะโซโล่ช่วงตำนี่ มันส์มาก ตำเสร็จก็เอามาฝัด เก็บไว้เลี้ยงไก่ ตั้งแต่เดินมาเห็นแม่บ้านแต่ละบ้านเขาง่วนทั้งวัน มีอะไรทำตลอด บ้างก็ไปเก็บกาแฟ บ้างก็ตากกาแฟ เตรียมอาหาร มีโอกาสเดินเล่นๆ เจอบ้านหนึ่งกำลังทำอาหารเลยเข้าไปดูเตาไฟ เขาเสียหน่อย ก็ได้เจอพริกแห้งรมควัน หอมๆ และ ใบยาสูบที่เขารมให้ค่อยๆ แห้งเหนือเตาไฟ

หลังจากนั้นก็ไปไหว้วัดพระใหญ่ ทำให้เสียดายที่นอนตื่นสาย น่าจะมาดูวัดนนี้ เพราะ นอกจากจะได้วิวพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ยังได้วิวทะเลสาบดอยเต่ามุมสูงอีกด้วย ช่างภาพที่มีโดรนอย่าได้พลาดที่นี่เลย
จุดที่น่าสังเกตคือวัดที่นี่สร้างไม่ค่อยเสร็จ ส่วนหนึ่งคือการขนส่งลำบากมาก พ่อหลวงเล่าให้ฟังว่าแค่ขนคนยังขึ้นมาลำบากนี่ต้องขนหินขนทรายขึ้นมา ต้องใช้กำลังทรัพย์จำนวนมาก ตอนนี้ก็ยังเปิดรับบริจาคอยู่ หากใครมีจิตศรัทธาก็สามารถติดต่อ พ่อหลวงตู่ได้เลย พ่อหลวงยังบอกอีกว่า ตอนที่ทำโรงงานไฟฟ้า โซลาเซลล์และ เครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนในช่วงฤดูฝนนั้น ต้องขนเสาไฟฟ้า เป็นปีๆ ถึงจะเอามาปักครบ

เที่ยวโปงทุ่ง

จากดอยหลวง อยากชวนคุณมารู้จักตำบลโปงทุ่ง ซึ่งประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน ชื่อโปงทุ่งเป็นทั้งชื่อตำบลและชื่อหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ที่นี่เป็นชาวปะกาเกอญอ ชาวลัวะ และคนเมือง อาศัยอยู่ปะปนกันเป็นเวลานาน จนเกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม กลายเป็น “คนเมือง” ในปัจจุบัน
การเดินทางมายังตำบลโปงทุ่งจึงเป็นการสัมผัสวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีชีวิตของคนสองน้ำ เพราะที่นี่มีแหล่งอาหารจากอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ และอ่างเก็บน้ำแม่หาดจึงมีปลาอร่อยๆ ให้กินตลอดปี มาลองใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เรียนรู้งานหัตถกรรม ทำความรู้จักกับผ้าลายน้ำถ้วมที่กำลังสูญหาย ทำความเข้าใจกับ “สำเนียงดอยเต่าสายใต้” เข้าถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่วัดต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่สูง
แสงเช้าที่พระบาทตะเมาะ
ย้อนรอยเส้นทางบุญ ไปสักการะพระธาตุที่สร้างด้วยความศรัทธาของชาวปะกาเกอญอ พวกเขาช่วยกันขนหินสร้างทางบุญขึ้นไปสร้างพระธาตุบนยอดดอยตะเมาะ จนเป็นบันไดทั้งหมด 1,700 กว่าขั้น ตลอดทางเดินจะพบกับความอุดมสมบูรณ์ของป่า เมื่อขึ้นไปบนยอดดอยจะพบกับทะเลหมอก ปีนหินขึ้นดอยโง้มเพื่อถ่ายภาพ 360 องศา ของทะเลหมอกยามเช้า
วัดพระพุทธบาทตะเมาะ
พระพุทธบาทตะเมาะนี้ มีพระเจดีย์หินทรายสามครูบา ที่สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับครูบาศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา และยังมีมณฑป 84 ยอดครอบรอยพระบาท ใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าจะสร้างเป็นวัดที่งดงามขนาดนี้ ที่นี่มีพระชาวญี่ปุ่นมาจำพรรษาอยู่หลายรูป และในจุดที่เป็นรอยพระพุทธบาทเรายังสามารถเสี่ยงทายไม้ส้าว หรือไม้สำหรับสอยผลไม้ ที่ไม้จะมีหนังสติ๊กรัดอยู่ ถ้าเราปราถนาสิ่งใด ให้คิดไว้ตอนที่เอาสองแขนกางไม้ส้าวแล้วดึงหนังสติกมาให้พอดีกับปลายนิ้วที่ยื่นออกไปยาวที่สุด เมื่อตั้งจิตอธิฐานแล้ว ก็ลองวัดสองแขนกับไม้ส้าวอีกครั้ง หากเลยจากระดับหนังสติ๊กที่วัดไว้ออกไปแสดงว่าสมปราถนาค่ะ
เรียนรู้การทำเฟอร์นิเจอร์จากรากไม้
ที่สหกรณ์ผลิตรากไม้บ้านแม่บวน รู้จักรากไม้และกระบวนการทำเฟอร์นิเจอร์จากรากไม้
เรียนรู้การสานก่องข้าว

ทำความรู้จักกับลุงสิงห์แก้ว สล่าสานก่องข้าวสองชั้นลายละเอียดประณีต ที่บ้านแม่บวน แกเป็นฮิปสเตอร์รุ่นแรกแห่งดอยเต่า ที่บ้านเข้าไปถึงก็เจอออฟฟิศลุง ลุงนั่งสานเมียนอนเล่นในเปล คุยกันมุ้งมิ้ง คือ อย่างชิล เราคิดว่าลุงกับป้าน่าจะเป็นฮิปสเตอร์รุ่นแรกผู้มาก่อนกาล หันไปดูรอบๆ ต้นไม้เจอเปลยวนขาดอยู่หลายอัน คงผ่านการกระทำความชิลล์มาหลายปีดีดัก ป้าเล่าให้ฟังว่า ลุงแกไปเรียนสานมาจากเพื่อนฝูง ตอนนั้นป้าป่วยไปนอนโรงพยาบาล ลุงไม่รู้จะทำอะไรว่างๆ เลยนั่งสานก่องข้าว ก็เลยได้ขายในโรงพยาบาลนั่นแหละ หลังจากนั้นลุงก็เป็นคน “บ้าสาน” ข้าวปลาไม่ยอมกิน เล็บแทบไม่เหลือ เพราะใช้เล็บดุนไม้ไผ่ ป้าแอบนินทาลุงอย่างหมั่นไส้
พายเรือเรียนรู้วิถีประมงที่เขื่อนผากั๊บ
เขื่อนผากั๊บเป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกอ่างเก็บน้ำแม่ตูบซึ่งอยู่ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านโปงทุ่ง ด้านหลังเขื่อนมีทัศนียภาพสวยงามสามารถนำเรือมาพายชมพระอาทิตย์ตกดินยามเย็น
กราบสักการะเจดีย์วัดท่าครั่ง
บ้านโปงทุ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่สูงเมื่อครั้งสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อปี พ.ศ. 2507 จึงมีผู้คนจากบ้านท่าครั่งอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ และย้ายวัดท่าครั่งตามมาด้วย ชาวบ้านโปงทุ่งเป็นคนเมืองหรือชาวไตโยนซึ่งอาศัยอยู่ริมน้ำปิงแต่เดิม มีอาชีพค้าขายครั่ง เมื่อมาอยู่ที่บ้านโปงทุ่งก็มีวิถีเหมือนกับคนอื่นๆ คือทำนาทำสวน วัดท่าครั่งถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านโปงทุ่ง
ทำลาบปลาดอยเต่ากับชาวบ้านโปงทุ่ง
บ้านนี้เรียกว่าบ้านสองน้ำ คือ อาศัยแหล่งอาหารเป็นปลาน้ำจืดจากอ่างเก็บน้ำแม่หาดและอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ ชาวบ้านจะวางแน่งในตอนเย็น และกู้ลอบเอาปลาในตอนเช้ามาขายที่ตลาด ลาบปลาของที่นี่มีสองแบบคือลาบเหนียวและลาบฝั้นส้ม หมายถึงการเอาเนื้อปลาสับละเอียดไปขยำกับน้ำมะนาว แล้วจึงนำมายำกับน้ำพริกลาบถือเป็นอาหารพื้นถิ่นที่หากินได้ยาก
เที่ยวชุมชนเดินกาดน้อยบ้านโปงทุ่ง
ที่ชุมชนนี้มีตลาดนัดวันพุธกับเสาร์และมีกาดน้อย หรือตูบกาด เป็นที่ซื้อหาของสดแห้งไปปรุงอาหารในชีวิตประจำวันทุกเช้า
ทำความรู้จักกับผ้าทอลายน้ำถ้วมที่บ้านสันบ่อเย็น
เมื่อครั้งที่อพยพจากน้ำที่เอ่อขึ้นมาหลังการสร้างเขื่อนภูมิพล ยังผลให้ชาวบ้านบางคนขนย้ายข้าวของไม่ทัน หนึ่งในสิ่งของที่คาดว่าจะสูญหายนั่นคือผ้าทอลายดั้งเดิมของดอยเต่า ที่เรียกว่าผ้าทอลายน้ำถ้วม ซึ่งปัจจุบันได้มีการฟื้นลายเก่าขึ้นมาอีกครั้งที่บ้านสันบ่อเย็นที่กลุ่มทอผ้าสัตยะผ้าตีนจกน้ำถ้วมดอยเต่า
เรียนรู้การทำไม้กวาดปุ๋มเป้งที่บ้านงิ้วสูง
ปุ๋มเป้งเป็นต้นไม้ที่มีลักษณคล้ายปาล์ม ชาวบ้านจะเอาใบปุ๋มเป้งตากแห้งมาทำเป็นไม้กวาด เพื่อใช้ในครัวเรือน
สำนักวิปัสสนาสุวรรณคูหา (ถ้ำหม้อ)
เป็นสำนักปฏิบัติธรรมทีสวยงาม มีถ้ำและพระอยู่ด้านในถ้ำ ด้านในถ้ำมีภาพวาดพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า
จากความคิดเดิมที่คิดว่าดอยเต่าไม่มีอะไร ตอนนี้คือ ว้าวมาก นี่แค่สองตำบลที่เราเข้าไปสำรวจ หากเดินทางไป มากกว่านี้จะพบเรื่องดีๆ อีกมากมายที่ดอยเต่า เราเลยอยากชวนคุณ ไปเที่ยวดอยเต่า ไปต่างประเทศไม่ได้ ก็เที่ยวเมืองไทยไปก่อน สวยไม่แพ้ที่ไหนในโลกจริงๆ ค่ะ
ร้านครัวมะขามหวาน
มาดอยเต่านอกจากการนั่งแพต่างๆ กินอาหารบนแพแล้ว มีร้านที่ไม่ได้อยู่บนแพ และไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง คือครัวมะขามหวานค่ะ สายตกปลาหรือสายล่องเรือ ถ้าอยากรู้ข้อมูลเชิงลึกให้มาที่ร้านนี้ก่อนเลย เพราะพี่เขาเซียน รู้จักทุกแพ ล่องเรือ มีเรือเป็นของตัวเองไว้ล่องเล่น ไม่รับจ้าง ส่วนอาหารของที่นี่ก็รสชาติจัดจ้านดีไม่เหมือนใครอยากจะให้คุณไปลอง ทุกเมนูปลาคือดีมาก อย่างอื่นต้องบอกตามตรงว่าก็จะเหมือนร้านพื้นราบทั่วไป แต่เมนูยำปลาดอยเต่า ต้มปลา จิ๊กกุ่งทอด และปลาทอดสมุนไพร ควรค่าแก่การลองมากๆ ไปลองกันค่ะ
แผนที่