
ตลาดสด
กาดของเชียงใหม่มีชื่อเรียกไล่ไปตั้งแต่ ตลาดขนาดเล็ก คือตูบกาด ตลาดสดทั่วไป เรียกคําเดียวว่ากาด และกาดนัด คือตลาดที่จัด เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
หากวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ “กาด” ก็คือศูนย์รวมชุมชน
แต่ก่อนนั้นกาดของเชียงใหม่มักจะอยู่ใกล้ๆ วัด ดังเช่นคําว่า “ไปกาดไปลี” หรือ “แอ่วกาด แอ่วลี” คําว่า ลีเป็นชื่อของตลาดลีเชียงพระ เป็นตลาดที่เปิด ณ ข่วงด้านหน้าวัดลีเชียง ในยุคล้านนาตอนต้น ซึ่งต่อมาเมื่อมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน จึงเปลี่ยนชื่อว่า วัดพระสิงห์ แต่คนก็ยังคงติดปากคำว่าไปกาดไปลีอยู่
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป “กาด” ก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
จากตูบกาด เป็นกาดชุมชน เป็นตลาดสด จากกาดนัดก็กลายเป็นงานเทศกาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลาดสด คนบ้านเราก็เรียกรวมกันว่า กาด ทั้งหมดแค่เติมคำสร้อยว่าเป็นกาดหน้อย หรือว่ากาดหลวง กาดในเวลานี้ก็มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
ไปกาดในเมืองเมื่อก่อน (น่าจะเกิน 30 ปี)
เนื่องจากพ่อเป็นคนจู้จี้เรื่องกินมากๆ ถ้าอยากกินอะไรก็ต้องได้กิน พ่อชอบกินตำกุ้งฝอย ถ้าอยู่บ้านนอกจะง่ายมาก แต่การอยู่ในเมืองเชียงใหม่จะค่อนข้างลำบาก ดังนั้นถ้าเราอยากกินตำกุ้งสดที่กุ้งยังเต้นทุกตัว ปลานาดีดๆ เราต้องไปตลาดสมเพชรแล้วเดินไปด้านหลังตลาด เพราะจะได้ของสดจริงๆ และต้องไปก่อนหกโมงเช้าด้วย เพราะหากสายกว่านี้จะไปไม่มีแล้ว
ในเวลานั้นตลาดสมเพชรยังไม่ได้ปรับเป็นตลาดนักท่องเที่ยว ถ้าไปสายของหมดก็ไปหาซื้อที่กาดก้อมต่อ อาจจะพอมีของอยู่บ้าง และของพวกนี้ต้องกินสด คือเอามาทิ้งไว้ไม่ได้ เดี๋ยวมันตาย บ้านเราเลยกินตำกุ้งตอนเช้า ในขณะที่บ้านอื่นเขาจะไม่ซีเรียส กุ้งเป็นบ้างตายบ้าง ก็แค่คัดออกเอาไปแกง กินกันตอนเที่ยงได้ ในเวลานี้ถ้าจะซื้อกุ้งเต้นๆ หาได้ยากมากแล้ว
ถ้าเราอยากกินพวกกับข้าวสุกหรืออาหารปรุงสำเร็จพวกยำหนัง จิ๊นนึ่ง เราจะไปกาดประตูเชียงใหม่ เพราะที่นั่นกับข้าวสุก อาหารกินสุกเยอะมากๆ แล้วก็อร่อยด้วย แต่ด้วยความที่บ้านเราอยู่ใกล้ตลาดต้นพยอมมากกว่า เลยซื้อของจากที่นั่น ช่วงหลัง ใครไปเดินเขาก็เรียกอาจารย์ ราคาก็ราคาอาจารย์ (555) ส่วนตลาดสมเพชรกลายเป็นตลาดคุณนาย
กาดหลวงหรือกาดเมืองใหม่จะไปเฉพาะเวลาที่ต้องการซื้อของเยอะๆ หรือไปซื้อของช่วงเทศกาลเท่านั้น
พื้นที่ตลาดสดสมัยก่อน ถ้าเป็นกลุ่มคนขายที่นั่งโต๊ะ เราจะไม่ซื้อ เพราะราคาแพง ตอนนั้นคิดว่ามันแทบจะเป็นพื้นที่คนรวยก็ว่าได้ แม้ว่าจะเดินตลาดเดียวกัน ดิสเพลย์ต่างกันมาก ส่วนใหญ่เราจะซื้อกับคนที่ขายแบกะดิน หรือวางบนแคร่ เพราะพวกที่อยู่ด้านในมีโต๊ะ มีผักหน้าตาสะสวย แต่ไม่ค่อยมีของที่คนบ้านนอกย้ายมาอยู่ในกรุงต้องการเท่าไหร่ กลุ่มที่เป็นแคร่หรือแบกับดินด้านหลังตลาดจะเร้าใจกว่ามาก
ไปกาดในเมืองเดี๋ยวนี้
ตลาดสดเดี๋ยวนี้หลายๆ ที่มีการจัดการชัดเจนมาก แบ่งโซนได้ดี ตลาดที่น่าเดิน และมีของอร่อยมากคือตลาดธานินทร์ แต่สำหรับเราปัญหาคือมีพวกผักพื้นบ้านน้อย คิดว่าตลาดนี้ชนะเรื่องอาหารปรุงสำเร็จมากกว่า ความหลากหลายของพืชผักกาดก้อมคิดว่ายังมี ความสนุกอยู่มากพอสมควร ของเยอะ อาหารเยอะ
ส่วนตลาดสดที่กลายเป็นเหมือนตลาดของฝากไปเลย คือตลาดต้นพยอม และตลาดประตูเชียงใหม่ และตลาดที่น่าใจหายคือตลาดสมเพชร ที่เมื่อโควิดมาเยือน นักท่องเที่ยวหาย โรงเรียนสอนทำอาหารให้ชาวต่างชาติต้องปิดไป ก็ทำให้นักท่องเที่ยวและครูต่างหายวับไปจากตลาด แผงโล่งอย่างน่าใจหาย พ่อค้าแม่ค้าบางรายถึงกับบอกว่า ถ้ามันยังต่อเนื่องขนาดนี้ เจ้าของตลาดคงต้องจ้างพ่อค้าแม่ค้ามาขาย ฟังแล้วก็น่าเสียดาย เพราะเป็นตลาดที่ยังมีโครงสร้างแบบตลาดเก่าอยู่เพียงแห่งเดียวในตัวเมือง