21 บาท ชี้อนาคตชาติไทย ถาดอาหารสะท้อนเมือง

วันนี้ได้เข้าร่วมงาน “อะไรอยู่ในถาด มื้อกลางวันของน้อง” ได้ฟังเรื่องราวหลายแง่มุมจากทั้งทางภาคราชการ นักวิจัย ครูผู้ทำงานในโรงเรียน รู้ถึงข้อมูลที่น่าตกใจจากทางสาธารณสุขฯ และ คนทำอาหารให้เด็กกิน เกิดความรู้สึกที่หลากหลายมาก เลยอยากเขียนถึงสักหน่อย

จั่วหัวมา ว่า 21 บาทซื้อนาคตชาติไทย หากมองเผินๆ ไม่ได้ฟังข้อมูล อาจจะคิดว่า โอเวอร์รีแอคชั่นไป เรื่องแค่นี้จะไปถึงขั้นสิ้นชาติได้อย่างไร แต่เรื่องจริงมันน่าตกใจเสมอ เลยย่อส่วนที่ตัวเองสนใจมาเล่าให้ฟัง

๐ เด็กเชียงใหม่อ้วนเตี้ย และ ไอคิวต่ำลง

ที่ผ่านมา ปี 2564 – ไตรมาส 2 ปี 2565 จากรายงานด้านสาธารณสุข เปิดเผยว่าภาวะโภชนาการเด็กปฐมวัย และเด็กเล็ก ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีภาวะทางโภชนาการต่ำที่สุด (คิดจากน้ำหนัก ส่วนสูง เทียบกับอายุ) เป็นข้อมูลเฉพาะเด็กไทย ไม่รวมต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันนี้เด็กไทยเกิดน้อย ดังนั้นแต่ละศูนย์จึงมีจำนวนเด็กต่างด้าวมากกว่าเด็กไทย จากจำนวนที่เกิดน้อยอยู่แล้ว ก็ยังคุณภาพไม่ค่อยดีอีก ซึ่งเราพูดกันเสมอว่าเด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า เป็นอนาคตของชาติ ถ้าเด็กเริ่มต้นด้วยอาหารภาวะอาหารที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งๆ ที่บ้านเราเป็นผู้ผลิตอาหาร ก็ดูน่าเศร้าไปหน่อย เพราะอาหารมีผลต่อไอคิวและสติปัญญาของเด็ก

ไอคิวเด็ก 5 ปีจะเช็คครั้งหนึ่ง โดยการเช็คที่เด็กเข้า ป. 1 เทอม 2 ทำตอนปี 59 ไอคิวเฉลี่ย คือ 101.4 ในปี 64 ไอคิวเด็กลดต่ำลงเหลือ 98 ซึ่งตัวเลขที่ต่ำลงนี้สอดคล้องกับภาวะโภชนาการ

และยังพบอีกว่าเด็กเชียงใหม่ เตี้ยที่สุดใน 8 จังหวัดนี้ และมีภาวะอ้วน~~ งือ

๐ บ้านที่มีฐานไม่แข็งแรง เริ่มเสริมฐานด้วยความรู้ แต่…

เริ่มต้นที่องค์ความรู้เรื่องอาหาร ที่ครู และผู้ประกอบอาหารเองควรจะมี เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่มีประโยชน์ รวมไปถึงชุมชนที่เข้ามาร่วมกันผลิตอาหารปลูกผักอินทรีย์ให้กับเด็ก

จากมุมมองของคนทำอาหาร ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น เงินที่ได้ 21 บาทต้องไปลงที่ค่าแรงส่วนใหญ่ ทำให้เงินต่อหัว ที่มาลงกับอาหาร ทำให้ค่าวัตถุดิบอาหาร เหลือเพียง 12 บาท !!!

จากการที่ได้ได้คุยกับแม่แดง จึงทราบว่า ถ้างบประมาณรวมเกิน 50,000 จะมีการจัดซื้อจัดจ้างเสนอราคา อาหารรัฐบาลให้ 21 บาท เมื่อมีการทำ E-Auction คนที่ได้รับเลือก คือคนที่เสนอราคาต่ำสุด ในบางครั้งต่ำสุดถึง 16 บาทต่อหัว ดังนั้น คำว่า 21 บาทจึงไม่ใช่ 21 บาทจริงๆ 16 บาทก็ต้องบริหารต้นทุนกันไป คำถามคือจะเหลือถึงคนกินกี่บาท (บางแห่งในการประกวดราคา ก็อาจจะไม่ได้เลือกราคาที่ต่ำสุด แต่ให้ทดลองประกอบอาหาร 1 เดือนถ้าไม่ดีก็เลิกจ้าง)

การลดต้นทุนจึงเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ เช่น ต้มจืดลูกชิ้น ก็พอจะเดาได้ว่า เด็กจะได้กินลูกชิ้นแบบไหน
โปรแกรม Thai School Lunch มีมานาน ซี่งเป็นโปรแกรมที่ คำนวณวัตถุดิบและอาหาร เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมวัตถุดิบทำอาหารให้ได้ตรงตามหลักโภชนาการ แต่ปัจจุบันนี้ ก็ใช้วิธี กะๆ เอาว่า จะใช้ประมาณเท่าไหร่ และควรจะมีนักโภชนาการที่มาสุ่มตรวจถาดอาหาร และถ้าส่วนไหนที่ทำงานบกพร่อง ควรต้องอบรมให้ความรู้

๐ นำความหลากหลายที่ปลอดภัยสู่ถาดน้อง
บางหน่วยงานก็มีการให้ความร่วมมือในการปลูกผัก เพื่อนำวัตถุดิบมาให้กับผู้ประกอบอาหาร มีการทำแปลงผักในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องผักพื้นบ้าน แล้วนำผักเหล่านั้นมาใช้ในการประกอบอาหาร นอกจากนี้เนื่องจากเดี๋ยวนี้มีความหลากหลายทางด้สนชาติพันธุ์ในโรงเรียนมากขึ้น ถาดอาหารในโรงเรียนก็ควรมีอาหารจาก กลุ่มชาติพันธุ์ที่อุดมด้วยคุณประโยชน์ มาปรุงลงถาดให้เด็กได้กิน

ที่มาเขียนนี้ไม่ได้มาเรียกร้องอะไร เพราะหลายๆ คนอาจจะบอกว่ามันก็มีกลไกมีการจัดการปัญหาอยู่ จะเดือดร้อนไปทำไม ถ้าจะให้เห็นภาพ คือ ถ้าไฟไหม้บ้านแล้วไม่ช่วยกันตักน้ำมาบรรเทา รอคอยให้ส่วนราชการหรือส่วนอื่นๆ มาช่วยเหลือ ช้าไปไฟก็คงไหม้บ้านหมดแล้ว

การเสวนาครั้งนี้เป็นการเปิดประเด็นปัญหา ให้เราได้ลองขบคิด เพราะเราๆ ต่างก็พูดเสมอว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ”
ไปฟังตัวเต็มที่ https://www.facebook.com/Sansaicisco/videos/1186350385522239/
ในงานนี้ มีเชฟเข้ามาร่วมในการสร้างเมนูจาก ราคา 21 บาท แล้วลองให้พวกเราได้ชิมกันด้วยค่ะ
ไปดูได้ในลิ้งค์นี้

*********ข้อมูลบางส่วนเอามาจากการสัมภาษณ์แยกเป็นรายบุคคล

You Might Also Like