รวมความอเมริกัน
Melting Pot of Flavours
คริสโตเฟอร์โคลัมบัสค้นพบอเมริกาในปี 1492 (ตรงกับสมัยพระเจ้ารามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยาตอนต้น) เมื่อมีการค้นพบดินแดนนี้ มหาอำนาจต่างๆ ในยุโรปต่างพากันเข้ามาจับจองพื้นทีเริ่มจาก สเปนที่ St.Augustine หรือปัจจุบันคือฟลอริด้า และอังกฤษที่ James Town หรือชื่อปัจจุบันคือรัฐเวอร์จิเนีย ในปี ค.ศ.1619 ทาสชาวแอฟริกันกลุ่มแรกเดินทางเข้ามายัง James Town จากนั้นก็มีอีกหลายเชื้อชาติที่เข้ามาในดินแดนใหม่นี้ทั้งชาวดัชท์ ชาวอิตาเลียน เข้ามาอยู่ร่วมกับคนพื้นเมือง ในรุ่นหลังก็มีชาวตะวันออกกลาง ชาวเอเซียเข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานกันมากมาย คนที่อยู่ร่วมกันนานๆ เข้า วัฒนธรรรมก็กลืนเข้าหากันแบบที่เขาเรียกว่า Melting Pot of Cultures กลายเป็นวัฒนธรรมอาหารในรูปแบบใหม่ เช่นชาวเยอรมันที่ชื่นชอบไส้กรอกและอาหารรสเปรี้ยว ชาวอิตาเลียนที่ลงเรือมาพร้อมกับกระเทียมและองค์ความรู้เรื่องชีสต่างๆ พอมาถึงอเมริกาก็พบว่าชีสนั้นสามารถทำได้ในราคาถูกสามารถใส่ในอาหารได้เยอะๆ แบบไม่ต้องเขียม อาหารอเมริกันจึงมีความหลากหลายในแง่ของ วัตถุดิบ รสชาติ และหน้าตาที่ผสมผสานกันหลายเชื้อชาติ นอกจากนี้อาหารอเมริกันยังรับอาหารเม็กซิกันจากเพื่อนบ้านเอามาไว้ในอ้อมอกของตัวเองด้วยกลายเป็น TEX-MEX ในแบบของตัวเอง อาหารอเมริกันจึงเรียกได้ว่าเป็น Melting Pot of Flavors ก็ไม่ผิดนัก

Italian and Polish Sausages, Rigatoni, Parmesan, Cheddar และ Gouda Cheese เมนูพาสต้าที่ The Duke’s แค่จานเดียวก็มีเกินสามสัญชาติแล้ว (Pasta,Parmesan, Sausage จากอิตาลี, Cheddar cheese จากอังกฤษ, Gouda Cheese จากเนเธอร์แลนด์, Polish Sausage จาก โปแลนด์)
ในเชียงใหม่มีร้านอาหารที่บ่งบอกความเป็นสัญชาติอเมริกันชัดเจนที่สุด คือร้าน The Duke’s นอกเหนือจากขนาดของอาหารที่ใหญ่โตโอฬาร (ซึ่งตอนนี้ได้ปรับเพิ่มทางเลือกให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับคนไทยแล้วเพราะคนไทยชอบกินหลายๆ อย่าง) เมนูอาหารที่นี่ครอบคลุมทั้งประเทศอเมริกาเลยก็ว่าได้
So American!…อเมริกันจ๋า

เบอร์เกอร์และชีส ที่กำลังย่างบนเตา เสิร์ฟร้อนๆ ให้กับทุกจานที่ The Duke’s
แฮมเบอร์เกอร์สัญญลักษณ์แห่งอาหารอเมริกัน
อาหารอันดับต้นๆ ของอเมริกาคือ แฮมเบอร์เกอร์ คนอเมริกันทั่วไปกินแฮมเบอร์เกอร์เฉลี่ยอาทิตย์ละ 3 วัน บริโภค ปีละ 30 ปอนด์ต่อคน ต่อปี นอกจากนี้อเมริกายังมีวันแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ของเดือนพฤษภาคมทุกๆ ปี ดังนั้นพื้นที่บนเตาย่างของคนอเมริกันจึงเป็นของแฮมเบอร์เกอร์ ตามด้วยเสต็ก และไก่ ความป๊อบของแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ประวัติของมันมีหลายกระแส แต่ที่ดูน่าเชื่อถือ ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าอาหารจานนี้น่าจะมีต้นตอมาจากผู้อพยพชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามายังอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเรือโดยสาร Hamberg America Line ที่พกพาสูตรการกินเนื้อบดหมักเกลือ กินกับขนมปังที่เรียกว่า Brötchen มาด้วย ทำให้อาหารจานนี้ฮิตไปทั่วในละแวกนั้น คนที่โดยสารมากับเรือนี้จึงถูกเรียกว่าชาวแฮมเบอร์เกอร์ จนกระทั่งเมือถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก็มีร้านอาหารเอามาทำเป็นเมนูเรียกลูกค้า เรียกว่า สเต๊กสไตล์แฮมเบิร์ก จริงๆ แล้วก็มีอีกหลายคนที่เคลมว่าแฮมเบอร์เกอร์เป็นสูตรของตัวเอง แฮมเบอร์เกอร์เดินทางเข้ามาเมืองไทย ที่คนไทยและคนเชียงใหม่รู้จักอย่างเอิกเกริกทุกหย่อมหญ้าด้วยฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังหลายแบรนด์ แต่ด้วยความเป็น เชียงใหม่เนี่ยน ที่ชมชอบอาหารโฮมเมดทำให้การกินเบอร์เกอร์ไม่ได้จำกัดอยู่ในฟาสต์ฟูดเพียงอย่างเดียว

Bacon& Cheese Burger เนื้อฉ่ำๆ ขนาดใหญ่พร้อมเบคอน ชีส ผักออร์แกนิคกรอบๆ
ดังนั้นเวลาเราไปที่ The Duke’s มันทำให้เราอดที่จะสั่งเบอร์เกอร์มากินไม่ได้ ทำให้ติดอันดับร้านเบอร์เกอร์ต้นๆ ของเชียงใหม่ชนิดที่ว่าสั่งกี่ครั้งก็เป๊ะปังเหมือนเดิม ส่วนตัวชอบที่เขาทำขนมปังเองด้วยและตัวขนมปังมันโอบอุ้มซอสและน้ำที่ฉ่ำออกจากเนื้อ เวลากินเนื้อขนมปังจะไม่เละ ให้ดาวไปเลย
สังคมนิยมเนื้อ

Prime Sirloin Rump เนื้อพรีเมียม ส่งเสียงฉู่ฉ่าอยู่บนเตา เมื่อโดนน้ำซอสราดลงช้าๆ เข้าเคลือบตัวเนื้อ
ในทางเทคนิคแล้ว เนื้อสัตว์ที่เอามาทำเป็น ท่อน เป็นชิ้น พวกปลา หรือ เนื้อไก่ เนื้อหมู ก็สามารถเรียกว่าเป็นสเต๊กได้ แล้วทำไมเมื่อเราคิดถึงเสต๊กเราจึงไม่ค่อยมีภาพอย่างอื่นเลยนอกจากเนื้อย่างฉ่ำๆ อันที่จริงแล้ว คำว่า Steak มีรากศัพท์มาจากภาษา นอร์เวย์ Steikjo บางตำราบอกว่า การกินเนื้อย่างไฟแล้วเอาเครื่องเทศใส่นั้นมาจากประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 15 บ้างก็บอกว่าสเต๊กเป็นส่วนหนึ่งของอาหารอิตาเลียน เพราะคำว่า Bif Steik นั้นเริ่มต้นฟลอเรนซ์เมืองอิตาลี ดังนั้นสเต๊กจึงเป็นเมนูของชาวอิตาเลียน บ้างก็ว่าสเต๊กนั้นไปโผล่อยู่ในตำราอาหารของฝรั่งเศสก่อน

สำหรับเนื้อดีๆ แล้ว องค์ประกอบอื่นๆ นั้นแทบไม่จำเป็นเลย
อย่างไรก็ดีส่วนตัวคิดว่า ไม่ว่าประวัติของสเต๊กจะเป็นอย่างไร ชาวอเมริกันนั้นได้ทำการรังสรรค์ให้การกินสเต๊ก นั้นดูชวนฝันเป็นสวรรค์ของคนกินเนื้อโดยแท้ ยังจำได้ว่าภาพเนื้อก้อนใหญ่ๆ ค่อยๆ วางลงบนไฟลุก ตัดออกมาเนื้อข้างในเป็นสีชมพูแดงฉ่ำ ทำให้ชวนหิว หน้าตาเข้าถึงได้ ไม่ซับซ้อนหรูหราเท่าอาหารยุโรป พูดง่ายๆว่า อเมริกันได้ทำให้สเต๊กมันแมส เมื่อก่อนคนไทยไม่ค่อยกินเนื้อวัวกันมาก ปัจจุบันนี้เคนไทยบริโภคเนื้อวัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลยุทธศาสตร์ของกรมปศุสัตว์พบกว่ามีการผลิตโคเนื้อเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นและมีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น จากตัวเลขการผลิตทีเพิ่มขึ้นเมื่อมองในแง่จำนวนร้านค้าที่ขายเนื้อวัวก็เห็นว่าเพิ่มขึ้นด้วย ทางเลือกของคนไทยในการกินสเต๊กจึงมีเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนมากมาย

Premium Cuts ส่วนต่างๆของเนื้อ ที่ชอบที่สุดน่าจะเป็น Boneless Ribeye เพราะส่วนตัวไม่ชอบเนื้อที่ลีนเกินไป
นอกจากการเลือกส่วนต่างๆ ของเนื้อได้ เลือกเปอร์เซ็นต์ไขมันที่อยู่ในเนื้อได้แล้ว เรายังสามารถ เลือกระดับความสุกได้ด้วย ในฐานะคนกินเนื้อ ถ้าเนื้อสุกมากๆๆๆๆๆๆๆ มันจะเสียความดีงามของเนื้อไปค่ะ ส่วนตัวชอบให้เนื้อนุ่มฉ่ำอร่อย ข้างในก็ควรจะเป็นสีแดงหน่อยๆ แบบ Meduim Rare ที่ The Duke’s
เวลาสั่งสเต็กเราสามารถเลือกระดับความสุกได้
- Blue คือแดงเลือดสาด เนื้อในเย็น เหมาะกับสายฮาร์ดคอร์ ถ้าใครที่ชอบเนื้อที่ด้านนอกสุกนิดๆ ข้างในยังดิบอยู่อันนี้เลย
- Rare คือแดงฉ่ำๆ แต่ยังสุกกว่า Blue อยู่ในระดับไม่สุกแต่ขอบที่สุกแล้วจะหนาขึ้นมาอีกหน่อย
- Medium Rare คือ แดงปานกลาง ตรงกลางก็อุ่นๆ อยู่ส่วนที่เกรียมๆ ก็ยังมีอยู่ ส่วนใหญ่คนจะนิยมระดับนี้ แต่สายคุณหนูสาธารณสุก ไม่ควรเลือกสิ่งนี้ค่ะ หลายคนเข้าใจผิดสั่งมาจะพบว่าดิบเกินไป
- Medium คือเป็นสีชมพูแล้วข้างในอุ่นเกือบร้อนเลย หั่นมาเลือดจะซิบนิดหน่อยแต่ไม่มากเท่าสามระดับข้างบน
- Medium Well สีชมพูจางแล้ว หั่นมาจะมีความร้อน มีน้ำเนื้อออกแต่น้ำจะเกือบใสแล้ว
- Well Done คือสุก 100% เนื้อเป็นสีเนื้อสุกไม่มีเปอร์เซ็นต์แดงเลยเหมาะกับคนที่มีฟันฟางแข็งแรง ชอบอะไรที่สู้ลิ้นสู้ฟันหน่อย
ความดีงามคือเราเลือก Sidedish เพิ่มเองได้ เพราะบางทีมักจะใส่มันบดมา คนไม่ชอบกินมันบดก็จะเพลีย หรือคนที่รักสุขภาพไม่อยากกินของทอดเจอมันทอดก็อาจจะไม่ปลื้ม นี่เราเลือกชะตากรรมในจานเองได้รักแบบไหนก็เลือกแบบนั้นไป
Meat Loaf อาหารคอมฟอร์ทของครัวเรือน

Meat Loaf กินคนเดียวอิ่มสบายท้องทั้งวัน
ว่ากันว่าแม่บ้านอเมริกันแต่ละบ้านจะมีสูตร Meatloaf เป็นของตัวเอง ดังนั้น หน้าตาก็อาจจะผิดแผกกันไปบ้างตามพื้นที่ เป็นอาหารของครอบครัวที่ต้องมาคู่กับมันบดราดด้วยบราวน์ซอส กินกับของทอดเพลินๆ เห็นในภาพอาจจะคิดว่าเป็นนื้อชิ้นเดียวแต่จริงๆแล้วมันคือเนื้อสับเอาไปปรุงใส่เครื่องเคราตามแบบฉบับของใครของมัน เอาไปอบบางที่อบแล้วก็เอามาย่างอีกที วางมากับมันบดราดด้วยซอส อย่างที่เห็นในภาพของร้าน the Duke’s
Ribs ความเปรอะเปื้อนที่แสนอร่อย

จานที่จะทำคุณเก็บทรงไม่อยู่
“กินจานนี้แล้วต้องกลับบ้านไปอาบน้ำ ไม่ต้องไปที่อื่นแล้ว” เพื่อนจะเตือนเสมอเพราะเป็นคนซุ่มซ่าม การกินซี่โครงฉ่ำซอส ที่เปื่อยล่อนออกจากกระดูกนั้น เราต้องกินด้วยมือเท่านั้นค่ะ และก็มักจะเกิดความพลาดครั้งใหญ่หลวงคือ เผลอไปปัดผม เปื้อนแก้ม ปากรั่วเนื้อตกไปเปื้อนเสื้อ มันอร่อยจนลืมอายุไปเลย จริงๆ แล้วอยากแนะนำให้เขามีผ้ากันเปื้อนกับถุงมือพลาสติกแจก ฮ่าๆๆๆๆ โดยเฉพาะที่ The Duke’s เจอจานนี้จะแต่งตัวคุณนายแค่ไหนก็เก็บทรงไม่อยู่จริงๆ

ซี่โครง Baby Back Ribs ของที่ร้านเขามี หลายขนาดให้เลือก ในภาพคือแบบกินสองคนและกินเป็นหมู่คณะ
คนอเมริกันชอบกินเนื้อก็จริง แต่เขาก็เก่งกาจเรื่องหมูมากเลยทีเดียวค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Slow Cook ทั้งอบ และบาร์บีคิวคือย่างรมควันนานๆ ทีนี้ซี่โครงมันจะมีสองส่วนค่ะ คือ Spare Ribs เป็นส่วนซี่โครงด้านล่างของหมู คือกระดูกยาวเนื้อน้อยมันจะเยอะหน่อยและอีกส่วนคือ Baby Back Ribs คือมันจะอยู่ค่อนไปทางบนๆ ติดกระดูกสันหลัง เนื้อจะเยอะนุ่มฉ่ำกว่า (ไม่ได้หมายถึงซี่โครงหมูเด็กๆ) แต่ก่อนเจ้าซี่โครงนี้เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะการขนส่งเนื้อเขาก็จะส่งแบบเนื้อๆเน้นๆ จริงๆ ตู้เย็นไม่มี พวกกระดูกนี่ถือว่าเป็นส่วนเกินไปเลยเวลาแพคแล้วมันไม่ลงล็อก จึงเกิดการทิ้งซี่โครงจำนวนมากลงน้ำ แต่ต่อมาพอมีการประดิษฐ์น้ำแข็งแห้งก็ทำให้ซี่โครงได้มีโอกาสได้งอกเงยในจานอาหารกับเขาบ้าง แต่ก็ขายในราคาที่ถูก เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ก็กลายเป็นยุคที่ซี่โครงก้านกุ่งรุ่งเรืองขึ้นมาบ้าง แถบเทนเนสซี่มีการเอาซี่โครงมาขายรถเข็น ต่อมาก็ได้โปรโมทในสื่อต่างๆ กลายเป็นอาหารยอดฮิตขึ้นมา ซี่โครงจึงกลายเป็นอาหารยอดฮิตของคนอเมริกันที่เราจะไม่พูดถึงเลยไม่ได้
Hotdogs อุ่นร้อนคู่สนามเบสบอล

Apple Bacon Cheddar Dog ของ the Duke’s
จริงๆ แล้วฮอทดอกเป็นอาหารที่มีชื่อเก๋ๆ ที่มีต้นฉบับมาจากไส้กรอกแฟรงค์เฟิร์ตเตอร์ แต่มีเนื้อในเนียนละเอียดกว่าต้นฉบับ ชื่อว่าดัชชุนด์ (dachshund) ที่แปลว่า สุนัขตัวเล็ก มีเรื่องเล่าว่าการขายไส้กรอกต้องกินกันตอนร้อนๆ คนขายไส้กรอกรถเข็นเค้าก็เลยคิดเอาไส้กรอกมาใส่ขนมปังให้จับกินได้ง่ายๆ ทีนี้ก็มีคนมีคนเคลมหลายคนว่าเป็นคนริเริ่ม ที่มาของการเอาใส้กรอกมาใส่ขนมปังเลยยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนคิด
ที่อาหารชนิดนี้ปังขึ้นมาต้องขอบคุณเจ้าของทีมเบสบอลเซนท์หลุยส์ บราวน์สต๊อกกิ้งที่จัดการแข่งขันด้วยตั๋วราคาถูก เพราะจะทำให้พวกเขากินไส้กรอกนี้และเบียร์มากขึ้น แต่ที่ชื่อต้องมาเอวัง เพราะในการแข่งขันเบสบอลแมทช์ฮิต ระหว่าง New York Yankees และ Giants เมื่อคนขายดัชชุนด์ ตะโกนขายของว่า “ร้อนสุดๆ มากินไส้กรอกดัชชุนด์ตอนที่ร้อนสุดๆ กันเถอะ” นักวาดการ์ตูนเขาก็วาดหมาดดัชชุนด์ลงในไส้กรอกลงหนังสือพิมพ์แล้วทีนี้เขาสะกดชื่อไม่ได้ จะปิดเล่มแล้วจากหมายาวตัวเล็กเลยกลายเป็นหมาร้อน Hot Dog ตามระเบียบ คนทำหนังสือที่ต้องเจอเดดไลน์บ่อยๆ คงเข้าใจดี ชื่อนี้เลยกลายเป็นชื่อฮิตแทนชื่อ ดัชชุนด์ (หาอ่านเรื่องนี้ได้ที่ ตำนานอาหารโลกเลยค่ะ)
เตาย่างไส้กรอกที่ The Duke’s
ฮอตดอกในปัจจุบันมีความหลากหลาย ปรับโน่นใส่นี่ไปตามความชอบ ซึ่งไส้กรอกอาจจะเปลี่ยนไปตามความชอบของแต่ละคนด้วย ส่วนใหญ่คนไทยจะชอบใส่ซอสมะเขือเทศมากๆ ส่วนตัวชอบเพราะมันมีหลายรสชาติทั้งเผ็ดจากมัสตาร์ดเปรี้ยวจากของดอง และไส้กรอกส่วนใหญ่สำหรับคนเอเชียมีรสเค็มไป การกินกับขนมปังช่วยได้มาก ทีเดียวค่ะ
Hot& Hearty Sandwiches : อิ่มด่วนแบบอเมริกัน

แซด์วิชในความคิดของคนไทยไม่ร้อน แต่แซนด์วิชคนอเมริกันร้อนนะคะ
สมัยก่อนถ้าพูดถึงแซนด์วิช สำหรับคนไทย มันจะกลายเป็นอาหารเสิร์ฟเย็น เป็นผักสลัดหอม หัวใหญ่ มะเขือเทศ ชีส และแฮม ซึ่งส่วนตัวไม่ค่อยชอบเพราะให้ความรู้สึกชืดๆ และไม่รู้สึกว่ามันจะอิ่ม โตขึ้นถึงมารู้จักแซนด์วิชร้อน มีความรู้สึกเป็นอาหารมื้อหลักขึ้นมาหน่อย ยิ่งมาเจอแซนด์วิชที่ The Duke’s กินแล้วต้องกลับไปหลับ อิ่มมาก ตอนนี้เขาเปลี่ยนขนมปังแล้ว ทำให้คนไทยอย่างเรากินแล้วย่อยง่ายขึ้นนั่นคือใช้ขนมปังแบบ Semi Sour Dough กินหมดได้ทั้งจาน อยู่ท้องแต่ไม่ถึงกับพึ่งที่นอนหมอนมุ้ง

Cubano แซนด์วิชของชาวคิวบาที่สร้างสรรค์ที่ฟลอริด้า
ด้วยอเมริกันเป็นเจ้าแห่งอาหารเพื่อคนทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น หนึ่งคำของพวกเขาจึงดีไซน์ให้กัดแล้วได้รับรสชาติที่หลากหลาย มีทั้งความเค็มหอมของเนื้อที่อยู่ด้านใน มีความสดฉ่ำของผัก มีความเปรี้ยวของผักดอง และซอสที่อยู่ด้านใน ความอุ่นร้อนทำให้ชีสที่อยู่ในนั้นละลายรวมเป็นเนื้อดียวกับขนมปังและเนื้อ สร้างอรรถรสที่ดีกว่าการเสิร์ฟเย็นเป็นไหนๆ แซนด์วิชชิ้นเขื่องๆ 1 ชิ้นก็ทำให้เราได้รับสารอาหารแทบทุกอย่าง (แต่ถ้าเราเลือกแบบที่มีแต่ชีสกับเนื้อ นั่นก็จะเป็นกรรมแถวๆ รอบเอวของเราเอง)

แซนด์วิชหลากหลายรสชาติของ The Duke’s รสชาติแบบอเมริกัน แต่ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในท้องถิ่น
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งของแซนด์วิชร้อนคือเขาไม่ค่อยใส่ผักสดลงไปในนั้น เพราะน้ำผักจะออกเมื่อโดนความร้อน และเมื่อน้ำผักออกก็อาจจะทำให้ขนมปังเสียรสชาติได้
Mac n’ Cheese

Mac and Cheese คอมฟอร์ทฟู้ดแถวหน้าของชาวอเมริกันเสิร์ฟที่ The Duke’s
“We go together like mac and cheese” เราเข้ากันได้ดีเหมือน แมคแอนด์ชีส เป็นคำพูดที่รูมเมทชาวอเมริกันเคยบอกไว้เมื่อนานมาแล้วหมายถึงเราอยู่ด้วยกันนานเข้ากันได้ดีเหมือนมักกะโรนีกับชีส ไม่เคยทะเลาะกันเลยสักครั้งจนเธอต้องกลับบ้าน พอเห็น mac and cheese ทีไรก็จะคิดถึงเธอ ส่วนตัวคิดว่าถึงคนอิตาเลียนจะเป็นเจ้าของพาสต้าแต่เราให้เครดิตการเกิดของ mac and cheese และทำให้ชื่อนี้เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งโลกแก่คนอเมริกันค่ะ
ว่ากันว่า Thomas Jefferson ประธานาธิบดีคนที่3 ของสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ไปยุโรป แล้วไปเจอเมนูพาสต้าเก๋ๆ นี้ที่ ฝรั่งเศส ติดใจถึงขั้นเอาสูตรมาและซื้อที่ทำพาสต้ากลับบ้าน ออกมาเป็น Macaroni Pie เสริ์ฟในงานเลี้ยงรับรองในงานซึ่งแพร่หลายออกไปเมื่อ ญาติของ Jefferson เอาไปรวมเป็นสูตรอาหารใน Cook Book ที่ชื่อ Virginia House Wife จากนั้นก็เข้าสู่ครัวเรือนเมื่อบริษัทคราฟท์เอาอาหารชนิดนี้ทำเป็นกึ่งสำเร็จรูปบรรจุกล่อง และมีขายตามร้านอาหารฟาสท์ฟู้ดทั่วไป แต่เสน่ห์ของ Mac and Cheese ที่ น่าหลงใหลที่สุดคือแมคแอนด์ชีสที่ทำสดๆ ร้อนๆ กินร่วมกับคนในครอบครัว
อิตาเลียนมือเติบ
เคยทำกับข้าวแบบอยากใส่โน่นใส่นี่เยอะๆ แบบจัดเต็มแต่ด้วยความจน ทำให้เราคิดว่าวัตถุดิบบางอย่างแพงทำยาก เราก็เลยทำอาหารแบบจำกัดจำเขี่ยไหม เราว่านี่เป็นความรู้สึกของคนอิตาเลียนที่ปลดปล่อยทุกข้อจำกัดในการทำอาหาร เมื่อมาอยู่ที่อเมริกาประเทศกว้างใหญ่ที่หาวัตถุดิบได้ครบ และเป็นดินแดนใหม่ อยากทำอะไรก็ทำ เราคิดว่าถ้าเราเป็นพ่อครัวอิตาเลียนเราจะฟูมาก ด้วยความคิดนี้เราจึงคิดว่าอาหารอิตาเลียนที่พบเจอเวอร์ชั่นอเมริกันก็เลยจัดเต็ม ซอสตูม ชีสตูม ใหญ่ยักษ์ แบบไม่มินิมอลเลย
คนอิตาเลียนพกพากระเทียมเข้ามาในอเมริกา เอามาใส่พาสต้า ใส่อาหารต่างๆ นอกจากนี้ยังเอาภูมิความรู้เรื่องการทำอาหารทะเล การผสานรสชาติให้กลมกล่อม เรียบง่ายแต่อร่อย
อาหารยอดฮิตที่มาจากมรดกของคนอิตาเลียนคือ “พิซซ่า” ซึ่งเข้ามายังอเมริกาในช่วงปลายศควรรษที่ 19 โดยผู้อพยพชาวอิตาเลียน แล้วก็แพร่หลายไปทั่วอเมริกา พิซซ่าแบบอเมริกันจริงๆ ที่เคยกินเมื่อตอนเดินทางไปคาโรไลนา ตอนนั้นสั่ง Wings กับพิซซา เห็นแล้วตกใจ คือมันใหญ่มากแป้งหนามาก แล้วทุกคนกินคนละถาด ปีกไก่เสิร์ฟกันตะกร้าใหญ่ๆ บอกว่าเป็น Appetizer แม่เจ้า…เวอร์ชั่นที่เจอที่ The Duke’s ปัจจุบันนี้ ถือว่าประนีประนอมกันมากแล้ว
นอกเหนือจากพิซซ่าแล้ว พาสต้าก็เป็นสิ่งที่คนอเมริกันสร้างความเป็นตัวตนลงไปในนั้นอย่างเต็มเปี่ยม ตั้งเต่ซอสครีมเห็ดเข้มข้นแบบ Alfredo พาสต้ามีทบอล และอื่นๆ อีกมากมาย
อาหารเพื่อนบ้าน
วัฒนธรรมเม็กซิกัน เข้ามาทางใต้เมื่อเข้ามาถึงอเมริกาแล้ว ก็เกิดอาหารจานใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น ต่อยอดจากอาหารจานเดิม โดยเฉพาะที่ Texas ที่แต่เดิมอยู่ในเม็กซิโก ตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาแต่ก็ไม่ทิ้งรากเหง้าของอาหารตัวเอง ที่นิยมกินกันมากก็ได้แก่ Nacho cheese, Burito, Taco
ที่กล่าวมาอย่างยืดยาวนี้จะบอกว่า หากเราเบื่อทำอาหารกินที่บ้าน โควิดจะทำให้เราเดินทางได้อีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าอยากไปเที่ยวทิพย์แบบอิ่มๆ ก็เที่ยวผ่านอาหารไปก่อน เมนู The Duke’s ครอบคลุมอเมริกาจากเหนือจรดใต้เลยทีเดียว รักชอบอันไหน จัดไปอย่าให้เสีย
อ้างอิงจาก
“What Caesar did for My Salad” โดย Robert Jack : ตำนานอาหารโลก
“An Edible History of Humanity” โดย Tom Standage : ประวัติศาสตร์กินได้
https://edition.cnn.com/travel/article/what-is-american-food-history/index.html
The Average American Consumes About 30 Pounds Of Hamburgers A Year.
https://en.wikipedia.org/wiki/American_cuisine
https://www.seriouseats.com/from-trash-to-treasure-the-history-of-barbecued-ribs
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/marvelous-macaroni-and-cheese-30954740/