สู่ปาย…สายเขียว

สู่ปายสายเขียว
สู่วิถีเกษตรอินทรีย์

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใครๆ ก็ตั้งคำถาม

“ทำไมปายเปลี่ยนไป”

“ทำไม ปายไม่เหมือนเดิม”

คำถามเหล่านี้พาลทำให้ หลายๆ มองความเจริญที่ถาโถมเข้าไปหาปายดั่งอาชญากรรมปล้นความบริสุทธ์ของปาย ปายในมโนนึกของบางคน อาจจะยังคงเป็นปายที่แลดูเป็นชนบท กองฟาง ดอยเขียว แม่น้ำปายที่ปราศจากสิ่งปลูกสร้างถาวร ชาวนาทำนา มีชาวเขาเอาผักของป่ามาขาย อันที่จริงถ้าจะมองให้แฟร์ๆ คือ เมืืองก็เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและกาลเวลา ไม่มีใครแช่แข็งเมืองไว้ได้ตลอดกาล มีมนุษย์ปายผู้หนึ่งกล่าววลีเด็ดไว้ว่า “ปายเปลี่ยนทุกวัน ไม่มีวันไหนซ้ำกันเลย”


จากการพบปะพูดคุยกับเจ้าของกิจการและคนที่อาศัยอยู่ในปาย ก็พอจะมองเห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ในแง่ของความมั่นคงทางอาหาร ปายมีการพัฒนามากขึ้น  เพราะสามารถผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชากรที่อาศัยอยู่ (ในกลุ่มของผักและข้าว) และเพียงพอที่จะขายให้กับนักท่องเที่ยว อาหารปลอดภัยมีคุณภาพมากขึ้น มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการจัดการผลผลิตที่ดี ผลผลิตที่เหลือก็สามารถทำการตลาด เพื่อกระจายผลผลิตเองได้ ด้วยปายในเวลานี้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มขึ้น จึงรู้จักการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้ถือว่าปายกำลังค่อยๆ พัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอาหารยั่งยืนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สายเขียวที่หมายถึงจึงไม่ได้หมายถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่เป็นสายเขียวที่ดูแลการผลิตตั้งแต่เริ่มต้น โดยเบียดเบียนธรรมชาติน้อยที่สุด สู่การผลิตอาหารที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง มาคุยกับมนุษย์ปายสายเขียวกันค่ะ

Akira Farm
บ้านสวนอคิราปาย: สวนอินทรีย์พอเพียง

จากข้าราชการเต็มเวลา และหารายได้เสริมด้วยการขายของออนไลน์ รายได้ที่คุณ อุ๋ย เนตรนภา ปิมปา ได้รับก็ถือว่าเพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว แต่งานที่ทำอยู่กลับทำให้เวลาที่มีให้กับครอบครัวกลับลดน้อยลง ททำให้เธอตัดสินใจละทิ้งงานประจำและงานออนไลน์ มุ่งสู่การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเริ่มจากพื้นที่เดิมที่ให้นักท่องเที่ยวกางเตนท์ในฤดูท่องเที่ยว หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อนักท่องเที่ยวน้อยลงเธอจึงเริ่มลงมือ เดินหน้าในสิ่งที่เธอต้องการ

บนพื้นที่เพียงสองไร่เศษๆ คุณอุ๋ยเริ่มต้นด้วยการสำรวจครัวเรือนก่อน ว่าครอบครัวของตัวเองกินอะไรมากที่สุด หลักการแรกคือเน้นว่าผลิตอาหารให้เพียงพอในครอบครัวก่อน เหลือแล้วจึงขาย แล้วมาลงรายละเอียดพื้นที่ว่าจะให้มีอะไรบ้าง วางระบบการจัดการน้ำให้เพียงพอในพื้นที่ และที่สำคัญไม่ใช้สารเคมีในการปลูก เพราะอาหารทั้งหมดนี้ต้องนำไปเลี้ยงครอบครัวของเธอเอง เธอจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ คือ 30% แรก ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ 30% ที่ 2 คือการปลูกข้าว โดยเลือกพันธุ์ข้าวหอมปาย พื้นที่ส่วนที่ 3 อีก 30% คือการลงไม้ยืนต้น เช่นกลุ่มส้มโอทับทิมสยาม มะม่วง ขนุน มะละกอฮอลแลนด์ ไผ่กิมซุงหรือไผ่หวานไต้หวันซึ่งกินได้ อร่อยดีและยังสร้างรายได้ได้ด้วย บริเวณคันเหมืองก็ปลูกกล้วยไข่ ชะอม อีก 10% เป็นปศุสัตว์ คือเลี้ยง ไก่ วัว เลี้ยงหมูป่า หมูจินหัว มูลสัตว์ก็เอาไปทำปุ๋ยคอกและเลี้ยงปลา และในพื้นที่ใกล้เคียงก็ปลูกกลุ่มสมุนไพร เช่นว่านหางจระเข้ ขิง ข่า ตะไคร้ และมะนาว ริมรั้วก็ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ในเรื่องการปราบศัตรูพืช หรือโรคพืชด้วย น้ำส้มควันไม้ และใช้ปุ๋ยทำเอง

ในเวลานี้ ก็ร่วมสองปีแล้ว สิ่งที่เธอได้ทำนั้นเริ่มผลิดอกออกผล และทยอยขายได้หมดแล้ว ทำให้เธอมีทั้งเงิน เวลา และไม่จำเป็นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร แถมยังได้อาหารที่ปลอดภัยมาเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย ที่สวนอคิรา มีศูนย์การเรียนรู้เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย

Fanpage: บ้านสวนอะคิราห์ เกษตรตามรอยพ่อ

Harvest Moon Valley:สวนอินทรีย์
จากแสงไฟสู้แสงอาทิตย์
ชีวิต From Bar to Barn ของ หนุ่ย Mojo

ณ ต้นน้ำแม่แสะ บนพื้นที่กว่า 17 ไร่ น้ำสะอาด ดินดำเปี่ยมด้วยความชุ่มชื้น คือที่ทำงานแห่งใหม่ของ หนุ่ย Mojo หรือ กฤศ เล้ารัตนานุรักษ์ จากคนกลางคืนเปลี่ยนมาใช้ชีวิตใต้แสงอาทิตย์ จากเสียงดนตรี เปลี่ยนมาฟังเสียงลมเสียงน้ำ ความตั้งใจของคุณหนุ่ยคือ เขาอยากให้เกิดสังคมของคนรักธรรมชาติ และผลิตอาหารปลอดสารพิษ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนของคนในเมืองปายด้วยกันเอง

เขาจึงเริ่มทำสวนผสม และเริ่มลงมือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ด้วยความสนใจเรื่องอาหารสุขภาพแนวแมคโครไบโอติก ทำให้เขาคิดทำฟาร์มผักขึ้นมา โดยเริ่มพูดคุยกับพ่อหลวงแห่งบ้านแม่แสะ ร่วมกันผลิตอาหารปลูกผักปลอดสาร อากาศที่ดี น้ำสะอาด และความตั้งใจที่ดีของเขา ทำให้ผลิตผลที่เขารอคอยกำลังงอกงามดี

ที่นี่นอกจากจะเป็นพื้นที่ในการทำสวนปลูกผักแล้ว ยังมีที่พักและศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ได้มาสนทนาและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน นอกเหนือจากนี้ คุณหนุ่ย ยังเอาเหล้าดองบ๊วยผลผลิตจากที่สวนมาให้เราได้ชิมอีกด้วย

ในเวลานี้คุณหนุ่ยก็สามารถปลูกผักและส่งผักปลอดภัยส่งตรงถึงบ้านได้แล้ว

Fan Page: Harvest Moon Valley

เป็นเรื่องน่าดีใจของคนปาย ที่เริ่มมีคนคิดทำการเกษตรแบบไร้สารเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากสวนที่กล่าวถึงแล้วยังมีข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ ของอีกหลายแหล่งปลูกที่ไม่ได้กล่าวถึง จากเดิมที่ปายเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยว มาเที่ยวจนล้นเมือง อาหารไม่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ ต้องซื้อมาจากเชียงใหม่ ทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่งอาหารแทบจะหมดเมืองปาย คราวนี้เราก็พูดได้เต็มปากว่า ปายเป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหารที่เพียงพอจะเลี้ยงคนในชุมชน เพราะกลุ่มผู้ผลิตให้ความสนใจผลิตอาหารปลอดภัย และยั่งยืน ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ….มาปายเมื่อไหร่ จึงได้อิ่มและปลอดภัยเมื่อนั้น

You Might Also Like