เมื่อก่อนตอนผู้เขียนเป็นเด็ก จำได้ว่าเราจะได้กินขนมเมืองๆ ก็ต่อเมื่องานเทศกาลเท่านั้น ไม่นับขนมที่กินที่โรงเรียนนั่นเป็นอีกสังคมหนึ่งที่เด็กบ้านนอกต้องเจอ ซึ่งก็จะได้แก่ มาม่าที่เป็นเศษๆ รสชาติเค็มๆ หวานๆ ก้าก้า หรูหน่อยก็กินพวกขนมยี่ห้อกูลิโกะ ถ้าเป็นขนมเมืองทำกันที่บ้านน้อยมาก เพราะมีแต่ของที่ต้องซื้อ เช่น พวกแป้ง น้ำตาล มะพร้าว ซึ่งมีราคาแพง สำหรับชาวบ้านนอกช่วงของการทำขนมที่ชอบที่สุดคือช่วงสงกรานต์ เหมือนทุกบ้านจะทุ่มเทกับเทศกาลนี้มาก บ้านไหนเก่งอะไรก็ทำอันนั้น ย่าผู้เขียนเก่งเรื่องการทำข้าวแต๋น ป้าทำข้าวต้มมัดเก่ง บ้านป้าข้างๆ ทำขนมเกลือ บ้านถัดไปทำขนมต๋องตึง และอีกมากมาย ที่ทุกบ้านต้องมีคือขนมที่ใส่ถาด ขนมชั้น วุ้น ขนมเปี่ยง เอามารวมกันก็จะได้กินขนมหลากหลายมาก
ปัจจุบันขนมเมืองที่เคยกินค่อยๆ หายไป และเรียกได้ว่าไม่มีคนทำแล้ว ขอเริ่มเล่าแบบไต่ระดับความหวานตั้งแต่ขนมที่ไม่มีความหวานเลย ขนมที่ใช้ความหวานจากธรรมชาติ และขนมที่ทำด้วยน้ำตาล
เข้าหนมเกลือ
ร้านยายมอญ
ช่วงเวลาเช้ามืดตรงข้ามเจดีย์เก่า หลังตลาดประตูเชียงใหม่ มีร้านขนมเกลืออร่อย (ไม่รู้จะเรียกร้านได้ไหม เพราะมีอยู่ถาดเดียว วางขายหน้าบ้านตัวเอง) เรียกว่าขนมเกลือยายมอญ ตอนนี้ยายมอญไม่ได้มานั่งขายแล้ว ลูกยายมอญมาขายแทน แต่ก็ยังทำเองเหมือนเดิม มีสูตรขนมง่ายๆ คือ ใช้แป้งข้าวเหนียวข้าวเจ้าผสมกันอย่างละครึ่ง ใส่น้ำ ใส่เกลือ เอาไปห่อตองนึ่ง ได้ขนมสีขาวนวลๆ เรียกว่าขนมเกลือจืด และมีอีกแบบที่ใส่มะพร้าวสับกับงาเพิ่มเข้าไป เรียกว่า ขนมเกลือหวาน
เวลาห่อเขาจะทำแป้งให้แบนๆ เพราะพับง่าย ห่อด้วยตองอ่อน ขายอันละ 2 บาท ส่วนใหญ่จะเอาตอกมัดห่อขนมรวมกันอีกที เป็นขนมที่ราคาถูกที่สุด ซับซ้อนน้อยสุด เป็นขนมที่ผู้เขียนเราชอบที่สุดในบรรดาขนมล้านนาทั้งหมด
ร้านยายมอญจะเปิดขาย 2 วันครั้ง เริ่มขายตั้งแต่ตี 4 ขายแค่ 100 ชิ้น หมดแล้วหมดเลย
โทร 061 281 5333
ปล.ลูกหลานยายมอญเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านกาแฟหลังตลาดไม่ไกลจากแผงขนมเกลือของยายมอญ สามารถไปอุดหนุนได้
เข้าหนมปาดหน้าไหม้
ขนมปาดหน้าไหม้มักจะกินกันตอนมีงานบุญ การทำก็ค่อนข้างจะยุ่งยากกว่าขนมปาดชนิดอื่น ตรงหน้าที่ไหม้และให้กลิ่นหอมนี่และ วิธีการทำคือใส่กะทิ น้ำตาล คนให้เข้ากันแล้วใส่แป้ง เอามานึ่ง แล้วจึงปิดฝา เอาถ่านแดงๆ มาวางไว้ด้านบนเพื่อให้เกิดหน้าไหม้ๆ นั่นเอง
ส่วนใหญ่ขนมที่พูดถึงมาจากร้านจันเป็งขนมไทย หรือร้านป้าแดงที่ตลาดประตูเชียงใหม่ ป้าแดงขายมาร่วม 40 ปีแล้ว แต่ก่อนขายผลไม้ แล้วย้ายมาขายผัก จากนั้นก็มาขายขนมหวาน เรียกว่าเป็นคนเก่าแก่ของตลาดเชียงใหม่ เดี๋ยวนี้ป้าแดงมียอดขายส่งมากกว่ายอดขายปลีก
ร้านจันเป็งขนมไทย
ตลาดประตูเชียงใหม่
เปิด : 03.00 น. – 15.00 น.
โทร 083 480 5374
เข้าต้มหัวหงอก
ที่เรียกว่าข้าวต้มหัวหงอกเพราะเอามะพร้าวโรย ทำให้มีสีขาวเหมือนหงอก ที่ต้องโรยมะพร้าวเพราะบ้านเราไม่ค่อยมีกะทิดีๆ ใช้ ข้าวต้มหัวหงอกจึงไม่มีกะทิในข้าว จะมีแค่ข้าวเหนียว แช่กับน้ำใบเตย ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อยเท่านั้น ใส่กล้วยลงไปเป็นไส้ จากนั้นก็ห่อใบตอง เอาไปนึ่งจนสุก โรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึก หากใครชอบหวานก็จิ้มน้ำตาล
ร้านขนมไทยนิตยา
ตลาดประตูเชียงใหม่
เปิด : 03.00 น. – 15.00 น.
โทร. 095 807 1465
เข้าวิตู
ขนมชนิดนี้มีหลายชื่อมาก บางคนก็เรียก ข้าวอี่ตู ข้าววิทู ข้าวเหนียวแดง หน้าตาจะคล้ายๆ กับข้าวมธุปายาสที่กวนกันตอนเดือนสิบ แต่ซับซ้อนน้อยกว่า เริ่มต้นด้วยการใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเอามาเคี่ยวกับน้ำตาล น้ำอ้อย กะทิ เมื่อนึ่งข้าวเหนียวเสร็จก็เอามามูลกับกะทิ และน้ำตาล น้ำอ้อย แล้วกดลงพิมพ์ ใส่งา ใส่ถั่ว
ร้านจันเป็งขนมไทย
ตลาดประตูเชียงใหม่
เปิด : 03.00 น. – 15.00 น.
โทร 083 480 5374
เข้าหนมวง
หรือโดนัทคนเมือง มีหลักการคือใช้แป้งข้าวเหนียวผสมกับมันหวานบด หรือฟักทองบดก็ได้ เอามานวดรวมกันแล้วทอด ราดด้วยน้ำอ้อย บางเจ้าจะใส่แบะแซให้น้ำอ้อยดูแวววาวสวยงาม แต่ของดั้งเดิมคือ เมื่อทอดเสร็จจะเอาน้ำอ้อยคลุกให้เคลือบไปเลย
เข้าหนมวง เป็นชื่อที่คนเมืองบ้านเราเรียก แต่พี่น้องร่วมวัฒนธรรมของเราเขาก็มีเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ใส่มันบด หรือฟักทองบด อย่างเช่นข้าวมูลโต่งเป็นชื่อเรียกขนมวงของชาวไตใหญ่แถบรัฐฉาน แต่ถ้าเป็นชาวไตแถบแม่ฮ่องสอนเรียกว่าข้าวมูลข่วย ชาวไตบางพื้นที่ก็เรียกข้าวมูลว้อง ถือเป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมข้าวของชาวไตที่มีร่วมกัน
ร้านขนมไทยนิตยา
ตลาดประตูเชียงใหม่
เปิด : 03.00 น. – 15.00 น.
โทร. 095 807 1465