เรื่องเล่าจาวกาดมิ่งเมือง | ล่ามช้าง-สมเพชร

ย่านล่ามช้าง-สมเพชร เป็นย่านชุมชนดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่ พื้นที่บริเวณล่ามช้างเคยเป็นพื้นที่เลี้ยงช้างของพญามังราย เรียกว่า เวียงเชียงช้าง มี “วัดล่ามช้าง” ที่ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงช้างทรงช้างศึก และเป็นที่ฝึกช้าง ปัจจุบันก็ยังคงมีเสาแหล่งช้าง (เสาหลักช้าง หรือหลักล่ามโซ่ช้าง) เหลืออยู่ให้เห็นในวัด พื้นที่ของชุมชนล่ามช้างเคยเป็นที่อยู่อาศัยของขุนนางระดับสูง มีทั้งบ้านเรือนของผู้คน คุ้มเจ้านาย และพ่อค้าคหบดี ปัจจุบันชุมชนล่ามช้างเป็นที่รู้จักในฐานะของย่านชุมชน และย่านการค้าที่ยังคงความสงบของเมืองเก่าชั้นใน เป็นชุมชนน่ารักที่ยังรักษาสายสัมพันธ์ของบ้าน วัด และตลาดเอาไว้อย่างดี

ภาพจาก: https://www.facebook.com/KadMuaChiangMai

ในย่านล่ามช้างมี “ตลาดมิ่งเมือง หรือ กาดมิ่งเมือง” เป็นตลาดชุมชน และเป็นตลาดเดียวที่ยังคงรักษาโครงสร้างของตลาดดั้งเดิมเอาไว้ หลายคนคุ้นเคยในชื่อ “ตลาดสมเพชร หรือ กาดสมเพชร” เพราะตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณสี่แยกสมเพชร คนจึงมักจะเรียกกันง่ายๆ จนติดปาก ซึ่งในความหมายคือเป็นการเรียกรวมสองตลาดเข้าด้วยกัน คือตลาดชำนินรการ และตลาดมิ่งเมืองซึ่งอยู่ห่างกันเพียงถนนกั้น

ตลาดชำนินรการเป็นตลาดที่เปิดอยู่ก่อนแล้ว แต่มักจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของจนล้นออกมาถึงบริเวณลานจอดรถซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดซึ่งเป็นพื้นที่ของพ่อเลี้ยงอุ่นเรือน และแม่เลี้ยงชิดขิ่น ยุตบุตร เจ้าของ “ห้างหุ้นส่วนอะไหล่ยนต์ขนส่ง”เมื่อมีพ่อค้าแม่ขายหนาตาขึ้นเรื่อยๆ พ่อเลี้ยงอุ่นเรือนจึงเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมานั่งขายของโดยระยะแรกยังไม่ได้เก็บเงินค่าแผง

ครอบครัว “ยุตบุตร” เป็นหนึ่งในครอบครัวพ่อค้าคหบดีที่มีธุรกิจรุ่งเรืองในช่วงปลายปี 2400 ซึ่งเดิมทีอาศัยอยู่ในย่านช้างม่อย มีพ่อเลี้ยงอุ่นเรือน และ แม่เลี้ยงชิดขิ่น ยุตบุตร เป็นผู้นำครอบครัว มีลูกสาว 4 คน และลูกชาย 1 คน (ปัจจุบันเหลือ 3 พี่น้อง คุณบัวชุม เหลือโกศล , คุณบุญทอง วาฤทธิ์ และ คุณชลิฎา นิภารักษ์ ที่ช่วยกันดูแลบริหารตลาดมิ่งเมือง) ต่อมาได้ย้ายครอบครัวมาทำธุรกิจขนส่งที่บริเวณถนนมูลเมือง (ชุมชนล่ามช้าง) และตลาดมิ่งเมืองในปัจจุบัน

พ่อเลี้ยงอุ่นเรือนในวัยหนุ่ม เปิดร้านขายอะไหล่ ชื่อร้าน “อะไหล่ยนต์ เทรดดิ้ง” ต่อมาขยับขยายไปทำธุรกิจรถยนต์ขนส่งหิน ดิน ทราย และรับเหมาก่อสร้าง ทำให้มีจำนวนรถมากขึ้น และยังมีโรงโม่หินและดูดทรายชื่อ “ห้างหุ้นส่วนอะไหล่ยนต์ขนส่ง” จึงต้องมาซื้อที่ดินในย่านล่ามช้างเพื่อทำเป็นโรงจอดรถและอู่ซ่อมรถ ซึ่งก็คือพื้นที่ของตลาดมิ่งเมืองในปัจจุบัน โครงสร้างไม้ที่สวยงามแปลกตาของตลาดก็คือโครงสร้างของโรงจอดรถเก่านั่นเอง ส่วนพื้นที่ตึกด้านในตลาดที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ก็คือบ้านที่อยู่อาศัยของครอบครัว

#สานการค้าสืบสายสัมพันธ์

ตลาดมิ่งเมืองเคยเป็นตลาดชุมชนที่รุ่งเรืองคึกคักเต็มไปด้วยแผงขายของมากมายนับร้อย รุ่งเรืองจนขนาดที่มีมหรสพลิเกมาเล่นในตลาด มียุคหนึ่งที่คนเชียงใหม่เรียกตลาดนี้ว่า “ตลาดคุณนาย” เพราะมักจะมีพวกผักผลไม้ฝรั่งที่หายากราคาแพงให้คนเชียงใหม่ได้จับจ่าย

ตลาดมิ่งเมืองในเวลานั้นจึงเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของชาวเชียงใหม่ เป็นศูนย์รวมของวัตถุดิบมากมายของแทบทุกครัวเรือนในเชียงใหม่ จากการค้าขายกลายเป็นสายสัมพันธ์ ทำให้ผู้คนได้มีการปฏิสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างให้ชุมชนเกิดความอบอุ่น แน่นแฟ้น อยู่กันแบบพี่น้อง แบบครอบครัว เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล การแบ่งปัน และความเอื้ออาทร อย่างเช่นการต่อรองราคา กิจกรรมลดแลกแจกแถมผักปลาที่มักจะเกิดขึ้นในตลาด บางครั้งก็ปันให้กันฟรีๆ สิ่งเหล่านี้คือส่วนเล็กๆ ที่เป็นเสน่ห์ของตลาดชุมชน
นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเปรียบได้กับตำราอาหารที่มีชีวิต ทำให้แม่ครัวมือใหม่ได้ความรู้ว่าถ้าอยากทำแกงนี้ต้องใช้เนื้อส่วนไหน ผักชนิดนี้เอาไปทำอะไรถึงจะอร่อย ไปจนถึงเป็นไกด์ที่สามารถให้ข้อมูลร้านอร่อยหรือที่พักในชุมชนแก่นักท่องเที่ยวได้ดี เสน่ห์ของการเดินตลาดชุมชนจึงไม่ใช่แค่การจับจ่ายของสดและอาหาร แต่สีสันของตลาดชุมชนยังเป็นการได้พบปะพูดคุยกันจนเกิดความผูกพันของทั้งพ่อค้าแม่ค้า ผู้ขายและผู้ซื้อ
#ฟื้นกาด

กาลเวลาผ่านล่วงเลยไป ความสำคัญของตลาดมิ่งเมืองก็ลดลง ในช่วงหลังเมื่อเริ่มมีตลาดใหม่ๆ การเข้ามาของโมเดิร์นเทรดอย่างร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดมิ่งเมืองกลายเป็นตลาดที่นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายภาพ บ้างมากับกลุ่มโรงเรียนสอนทำอาหาร การซื้อลดลง กลุ่มคนพื้นที่ที่เดินตลาดก็น้อยลง คนเดินตลาดมิ่งเมืองน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าจึงทยอยออกไปค้าขายที่ตลาดอื่นบ้าง บางเจ้าลูกหลานก็ให้หยุดขายของเพราะอายุมากขึ้น ทำให้แผงขายของในตลาดลดจำนวนลง

จนกระทั่งในเวลานี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นความทรงจำสีจางที่แสนคึกคักของตลาดมิ่งเมืองให้กลับมาอีกครั้ง ทางตลาดก็จะค่อยๆ ปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย
เราจึงอยากชวนคุณลองไปเดินจับจ่าย ซื้ออาหารการกินที่ตลาดนี้ สัมผัสความอบอุ่นคุ้นเคยกันของพ่อค้าแม่ค้าและคนในชุมชนในตลาดมิ่งเมือง ที่ซื้อขายกันมานานอยู่ด้วยกันจนผูกพันเป็นครอบครัว เป็นตลาดที่มีชีวิต เป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของเชียงใหม่
ก่อนจะไปเราจึงอยากแนะนำ “พ่อกาดแม่กาด” ผู้เป็นตำนานของกาดมิ่งเมืองที่นั่งขายกันมานานกว่า 40 ปีก็ยังมี


แผงขายหมูแม่คำผิว
แม่คำผิว ศรีสุทธะ เจ้าของแผงขายหมูเดียวในตลาดมิ่งเมือง เปิดแผงขายหมูตั้งแต่ปี 2520 แม้ว่าจะเนิ่นนานกว่า 45 ปี แต่แม่คำผิวจำได้แม่นว่ามาขายหมูที่ตลาดนี้วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2520 ในสมัยที่เชียงใหม่ยังไม่มีตลาดใหญ่ๆ ตลาดมิ่งเมืองซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองจึงคึกคักเนืองแน่นไปด้วยคนซื้อและคนขาย แม่คำผิวเล่าว่าที่มาขายหมูเพราะญาติพี่น้องต่างก็ทำอาชีพขายหมู แต่ตอนนี้เลิกขายกันไปหมดแล้ว เหลือแต่แม่ที่ยังคงขายหมูอยู่ที่ตลาดมิ่งเมือง จากแผงขายหมูกว่า 20 แผง ทุกร้านขายดิบขายดีจนแทบจะไม่ได้มีเวลาคุยกัน ลูกค้าต่อคิวกันซื้อหมู ขายดีตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าตรู่จนไปถึง 2-3 ทุ่ม ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลยิ่งขายดี แต่ตอนนี้เหลือเพียงแผงของแม่คำผิวคนเดียวที่ยังคงมานั่งขายอยู่ในตลาด ซึ่งก็ยังคงมีคนในชุมชนแวะเวียนมาซื้อหมูของแม่คำผิวอยู่



แผงขายไก่แม่อำพร
ถัดจากแผงขายหมูเป็นแผงขายไก่หนึ่งเดียวในตลาดของแม่อำพร บุญยืน จากที่เคยเป็นลูกจ้างร้านขายไก่ก็ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของแผงขายไก่เอง และมาเปิดแผงขายไก่ในตลาดมิ่งเมืองตั้งแต่ปี 2524 สมัยที่ราคาเนื้อไก่ยังขายกันหลักสิบบาท ไม่มีห้างฯ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนสมัยนี้ แม่อำพรเล่าว่าสมัยนั้นต้องมาเปิดแผงขายไก่ตั้งแต่เที่ยงเพื่อจะขายในช่วงเย็น ขายไก่ได้วันละเป็นร้อยกิโลฯ มีลูกน้อง 2 คน บรรยากาศในตลาดสมัยนั้นสนุก การมาตลาดทำให้ได้พูดคุยกัน ถามไถ่สารทุกข์ มีการต่อรองราคา ได้ทำความรู้จักกัน แต่สมัยนี้คนไม่เดินตลาดกันแล้ว ตลาดเงียบ ขายได้น้อยลงมาก ไม่มีลูกน้องแล้ว แต่จะให้หยุดขายก็ไม่มีอะไรทำเลยต้องมาตลาดดตั้งแต่เช้าเพื่อจะได้ขายให้ได้เยอะขึ้น ใครอยากอุดหนุนไก่ของแม่อำพรก็สามารถมาเจอแม่อำพรได้ทั้งวัน ตั้งแต่ 7.30 น. ถึงประมาณบ่ายสามโมง



อาหารทะเลพี่แอม
ติดกับแผงขายไก่เป็นแผงขายอาหารทะเลของพี่แอม อัมพิกา แซ่จู ที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2524 พี่แอมเล่าว่าสมัยนั้นตลาดมิ่งเมืองเจริญมาก เพราะตลาดในเชียงใหม่ยังมีน้อย เป็นตลาดที่เปิดขายตลอดทั้งวัน และทำเลของตลาดก็อยู่ในเมืองทำให้คนมาจับจ่ายกันตลอด นอกจากจะมีแผงขายอาหารทะเลที่ตลาดแล้วพี่แอมยังขายวัตถุดิบอาหารทะเลให้กับร้านอาหารและโรงแรมในเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยโรงแรมปอยหลวง สมัยนั้นร้านพี่แอมมีทั้งกุ้ง หอย ปูปลา ปลาหมึก ครบทุกอย่าง เป็นเจ้าแรกๆ ในเชียงใหม่ที่มีปลาซาบะขาย ปัจจุบันแผงในตลาดมิ่งเมืองของพี่แอมเหลือแค่กุ้งกับปลาหมึก ช่วงโควิดที่ไม่มีคนเดินตลาดพี่แอมเลยเปิดร้านอาหารตามสั่งเพิ่ม ใช้วัตถุดิบอาหารทะเลที่ตัวเองขายเอามาทำอาหาร และก็ยังคงส่งอาหารทะเลให้ร้านอาหารต่างๆ ในเชียงใหม่อยู่บ้าง ใครที่เคยซื้อของทะเลจากพี่แอมจะรู้ดีว่าวัตถุดิบอาหารทะเลของพี่แอมถูกคัดมาอย่างดี เป็นของดี ของสด มีคุณภาพ



แผงผักแม่สุรีย์
มีเนื้อสัตว์แล้วก็ต้องมีผัก ใครเคยไปตลาดมิ่งเมืองจะเห็นแผงขายผักของแม่สุรีย์ พะสุ เป็นแผงขายผักที่ตั้งอยู่ริมถนนมูลเมืองซอย 6 แม่สุรีย์ขายมานานมากจนจำไม่ได้ว่ามาขายตั้งแต่ปีไหน ขายมาประมาณ 30-40 ปี จำได้เพียงแค่เริ่มจากนั่งขายเป็นตะกร้าเล็กๆ ยังไม่มีแผง ตอนนั้นขายแค่ถั่วฝักยาวกับแตง ขายถั่วฝักยาวมัดละ 5 บาท นั่งขายอยู่ริมถนนเพราะแผงในตลาดมีเยอะมากจนล้น ต้องคอยวิ่งหลบเทศกิจที่คอยมาไล่ แล้วค่อยๆ เติบโตจนมีแผงเป็นของตัวเอง มีผักขายเยอะขึ้น และก็ยังคงขายมาจนถึงปัจจุบัน

แม่สุรีย์เป็นคนสันทรายแต่เดินทางค้าขายผักมาหลายตลาด จนมาที่ตลาดมิ่งเมืองนี่แหละที่ขายดีที่สุด ในช่วงสองสามปีหลังที่มีโควิดก็เริ่มขายได้น้อยลงมาก แต่ก็ยังพอขายได้ ที่ร้านของแม่สุรีย์นอกจากจะมีผักสดนานาชนิดแล้วยังมีของดีแอบซ่อนอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ “หมูแดดเดียวและเนื้อแดดเดียวอรทัย” อยากรู้ว่าดีเด็ดแค่ไหนต้องลองไปอุดหนุนที่ร้านแม่สุรีย์



ร้านเสริมสวยอาภารัศมิ์
ร้านเสริมสวยในตลาดเหมือนเป็นของคู่กัน ที่ตลาดมิ่งเมืองมีร้านเสริมสวยเก่าแก่ที่เปิดมานานประมาณ 30 ปี เป็นร้านของพี่อาภารัศมิ์ เจนจบ คนกำแพงเพชรที่เดินทางมาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในย่านนี้ พี่อาภารัศมิ์ฝึกทำผมกับร้านญาติที่เปิดอยู่ในตลาดชำนินรการตั้งแต่อายุ 17 ตอนนี้อายุ 52 ปีแล้วก็ยังคงทำผมอยู่ เมื่อร้านของญาติที่อยู่ตลาดฝั่งตรงข้ามปิดไปจึงย้ายมาเปิดร้านทำผมของตัวเองที่นี่ สมัยนั้นคนเยอะ หน้าร้านเนืองแน่นไปด้วยแผงขายของ มีทั้งคนในชุมชนและแม่ค้าในตลาดมาลูกค้า ราคาค่าสระไดร์แค่ 20 บาท ตัดผม 30 บาท ปัจจุบันลูกค้าก็ลดลงไปเยอะ เหลือเพียงลูกค้าประจำในชุมชนที่ยังคงแวะมาใช้บริการ บ้างก็แวะมาทักทายถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ

นอกจากประสบการณ์ด้านการทำผมที่ยาวนาน ร้านของพี่อาภารัศมิ์ยังราคาเป็นมิตร สระไดร์ในราคาไม่แพงแค่ 70-80 บาท ตัดผมอย่างเดียวก็แค่ 50 บาท หรือหากเป็นลูกค้าประจำเก่าแก่ก็ยังคงคิดราคาเดิม ใครอยากตัดผม สระผม หรือทำผมในราคาย่อมเยา สามารถแวะไปใช้บริการพี่อาภารัศมิ์ได้ ร้านตั้งอยู่ตรงห้องแถวในตลาดใกล้กับที่จอดรถ เปิดทุกวัน 8.00 น. – 19.30 น.



ร้านขายของชำพ่อบุญชวน
อีกหนึ่งร้านชำเก่าแก่ในตลาดมิ่งเมือง ร้านของพ่อบุญชวน สุทธยากร ที่เปิดขายมาตั้งแต่ประมาณปี 2513 ขายมาตั้งแต่พ่อบุญชวนอายุ 25 จนตอนนี้อายุ 77 ปีแล้วก็ยังคงเปิดขายอยู่ สมัยนั้นคนในชุมชนมาเดินตลาดเยอะ ขายพริกแกงแค่ 5 บาท 10 บาทก็ขายได้ ค้าขายอะไรก็ดีไปหมด ร้านของพ่อบุญชวนน่าจะเป็นร้านที่เก่าแก่ที่สุดในตลาดมิ่งเมืองที่ยังคงเปิดขายอยู่



จากที่เคยเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ปัจจุบันบรรยากาศของตลาดมิ่งเมืองเงียบลงไปมาก แต่ก็ยังคงมีพ่อค้าแม่ขายมาเปิดแผงขายของกันอยู่บ้าง มีไม่เยอะแต่มีครบทั้งหมูเห็ดเป็ดไก่ไปจนถึงเครื่องแกง ตลาดยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นตลาดชุมชน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในพื้นที่ตลาดมีร้านขายอาหารเพิ่มขึ้น มีของดีของอร่อยย่านล่ามช้างอย่างน้ำเงี้ยวป้าไรเจ้าเก่าแก่ มีร้านขายก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า อาหารตามสั่ง อาหารเหนือ ให้ผู้คนได้เข้ามากินของอร่อย มาจับจ่ายซื้อของ มาสร้างบรรยากาศของตลาดให้ยังคงมีชีวิต เจ้าของตลาดและคนในชุมชนก็ยังคงช่วยประคับประคองและฟื้นฟูให้ตลาดมิ่งเมืองอันเป็นตลาดเก่าแก่ที่สำคัญของเชียงใหม่ในอดีตให้มีลมหายใจไปเรื่อยๆ ให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวได้เห็นความหมายและคุณค่าของตลาดชุมชนที่เต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ เป็นบ่อเกิดแห่งสายสัมพันธ์ทางสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อในอนาคต

You Might Also Like