แอ่วพะเยาเฮาม่วน #1

อีสานล้านนาบ้านจำไก่1

เมล็ดพันธุ์แห่งอีสาน ที่งอกงามในล้านนา
เที่ยวอีสานล้านนา ที่บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง (บ้านจำไก่)

ปรากฏการณ์ ‘อีสานย้ายถิ่น’ เริ่มมาตั้งแต่ระหว่างปี 2321-2453 ในช่วงปีดังกล่าวเกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านไม่สามารถส่งส่วยอากรได้ เมื่อมีการก่อสร้างสถานีรถไฟโคราชในสมัยรัชกาลที่ 5  อีกทั้งทางส่วนกลางมีความต้องการบุกเบิกพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลาง หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จึงทำให้เกิดการจ้างแรงงานเพื่อทำการเกษตร ซึ่งในยุคแรกๆ นี้เป็นการย้ายถิ่นเพียงช่วงรับจ้างทำนา เมื่อหมดฤดูกาลก็กลับบ้านเดิม ต่อมาชาวอีสานก็โยกย้ายถิ่นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งนอกจากพื้นที่ทำกินแห้งแล้งแล้ว พื้นที่เพาะปลูกก็ยังไม่เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ประชากรชาวอีสานจึงพากัน   ย้ายถิ่นอย่างต่อเนื่อง มีชาวอีสานย้ายมาทางภาคเหนือแบบถาวร ในช่วงปี พ.ศ. 2490-2520 มากที่สุด โดยส่วนใหญ่จะอพยพมาอยู่จังหวัดเชียงราย และส่วนหนึ่งอพยพไปอยู่จังหวัดพะเยา และหนึ่งในนั้นคือ ชาวอีสานที่ย้ายมาอยู่ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ บ้านจำไก่ ที่ปัจจุบันเรียกว่า  ‘บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง’ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็น ไทลาว และผู้ไท

อีสานล้านนาบ้านจำไก่2

การแสดงดนตรีของชาวบ้าน ณ วัดใหม่ราษฎร์บำรุง

ของกินคนไทลาวและชาวผู้ไท

ชาวไทลาวก็เหมือนกับชาวบ้านแถบอุษาอาคเนย์ทั่วไป คือมีข้าวเป็นอาหารหลัก กินกับของจิ้มที่ทำง่ายๆ เช่น น้ำพริก แจ่ว หรือป่น อาหารจานเด่นดังของลาวคงไม่แพ้ พวกส้มตำ แกงหน่อไม้ แกงเห็ด ส่วนพวกอาหารจานเนื้อที่หรูหราราคาแพงจะกินกัน ก็แค่ในงานสำคัญๆ เท่านั้น

อีสานล้านนาบ้านจำไก่3

ส้มตำลืมผัว ของแม่บ้านชาวลาว รสชสาติเผ็ดจนมึนไม่ใช่แค่ผัว อาจจะลืมการทรงตัว ลืมทางกลับบ้านไปเลย

ส่วนชาวผู้ไท เป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ผักริมรั้ว หน่อไม้ดองเกลือ หรือน้ำพริก กินกับของที่หาได้ เช่น กบ เขียด แมลง  อาหารผู้ไทแต่ก่อน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี ส่วนประกอบของเนื้อมากนัก

อีสานล้านนาบ้านจำไก่4

หมกหน่อไม้ของแม่บ้านชาวผู้ไท กลิ่นปลาร้ายั่วยวนรุนแรงเลเวล 10

เปลี่ยนอดีต ที่ขัดแย้ง…เป็นปัจจุบันที่เข้มแข็ง

บ้านจำไก่แต่เดิมนั้นเป็นป่าไผ่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ คนเหนือเรียกน้ำจำ หรือน้ำจ๋ำ เป็นที่มาของชื่อบ้านจำไก่ พื้นที่นี้มีชุมชนอยู่ก่อนแล้วเป็นคนเมือง เมื่อ ชาวต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมเข้ามาลงหลักปักฐาน จากหนึ่งครอบครัวเป็นหลายครอบครัวแล้วขยายเป็นชุมชน ความแตกต่างและขัดแย้ง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวไทลาวอพยพมาอาศัยอยู่ที่   บ้านจำไก่ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เมื่อปี พ.ศ. 2502 ส่วนชาวผู้ไทอพยพมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ราวปีพุทธศักราช 2510 พวกเขาต่างหนีความแห้งแล้ง หวังที่จะมาพึ่งดินแดนที่อุดมสมบูรณ์อย่างพะเยา เพื่อทำนาและก่อร่างสร้างตัว  ขึ้นอีกครั้ง

อีสานล้านนาบ้านจำไก่6

กระเทียมบ้านจำไก่ เป็นกระเทียมที่มีรสเผ็ด กลิ่นแรงสมเป็นกระเทียมไทยแท้ๆ

ดังเช่นครอบครัวของพ่อเก่ง วังทอง ชาวไทอีสานคนแรกที่ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง พ่อเก่ง เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ. 2500  พระมหาปั้น พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกับครอบครัวของพ่อเก่งเป็นอย่างดี ได้เดินทางมายังจังหวัดพะเยาเพื่อสอนพระสงฆ์และสามเณรที่วัดศรีโคมคำ ที่พะเยา ยังเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย พระปั้นได้พักอยู่ที่วัดดอนเหล็ก บ้านดอกคำใต้ ได้มีโอกาสออกเยี่ยมเยียนพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ อยู่เสมอจนได้มาที่วัดจำไก่ขณะนั้นชาวบ้านทำนาเสร็จพอดี พระมหาปั้นเห็นข้าวกอใหญ่เต็มท้องนาไปหมด น้ำก็มีมากเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาปีพ.ศ. 2501 ท่านมหาปั้นได้กลับไปที่อีสานเพื่อเยี่ยมบ้านเกิดที่จังหวัดอุดรธานี และ เยี่ยมวัดที่เคยบวชเรียนและจำพรรษาที่ประชานิมิตรบัวใหญ่จึงได้เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำที่บ้านจำไก่ ให้พ่อและแม่ของพ่อเก่งฟัง ซึ่งแตกต่างกับที่อีสานที่มีแต่ความแห้งแล้งทำนาได้เพียงอย่างเดียวแถมยังได้ข้าวน้อยมาก เมื่อพระมหาปั้นกลับมาที่พะเยาอีกครั้ง พ่อเก่งซึ่งมีอายุเพียง 14 ปีก็ติดตามมาด้วย เขามารับจ้างเกี่ยวข้าวที่บ้านดอกคำใต้และได้มาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ พอเสร็จจากการเกี่ยวข้าวแล้วก็เดินทางกลับไปที่นครราชสีมาไปเล่าเรื่องต่างๆ ให้พ่อแม่ฟังครอบครัวของเขาจึงขายวัวไปหาซื้อที่นาที่บ้านจำไก่ พ่อเก่งกับพี่ชายจึง เดินทางมาพะเยาซื้อที่ได้ 52 ไร่ จึงเขียนจดหมายไปบอกพ่อและแม่ จากนั้นพ่อและแม่จึงขายที่ทั้งหมดพร้อมชักชวนเพื่อนมาด้วยช่วงปีพ.ศ. 2502 มี สองครอบครัว ครอบครัวแรกที่ย้ายมาที่บ้านจำไก่ คือ ครอบครัวของพ่อเก่ง วังทอง และครอบครัวของพ่อบุญ แสนเมือง แล้วก็มาซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินส่วนใหญ่เวลานั้นยังเป็นป่าสงวน

อีสานล้านนาบ้านจำไก่5

พ่อเก่ง ผู้บุกเบิกพาชาวอิสานมาอยู่ที่บ้านจำไก่ ปัจจุบันยังทำอาชีพจักสานในบ้าน

จากปากต่อปากพวกเครือญาติก็ต่างพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนภาคเหนือ ดังนั้นในปีพ.ศ. ๒๕๐๕ จึงได้มีชาวอีสานอพยพมาเพิ่มอีก   จวบจนปัจจุบัน ในช่วงระยะแรกที่อพยพเข้ามาอยู่มีอุปสรรคหลายอย่างจนทำให้หลายครอบครัวต้องอพยพกลับไปยังบ้านเกิด เช่น กำแพงภาษาที่ทำให้ คนไทลาว ผู้ไท มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนเหนือที่พูดคำเมือง

อีสานล้านนาบ้านจำไก่7

วิหารไม้เก่าแก่ ของวัดบ้านจำไก่เดิมก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหม่ราษฎร์บำรุง ดูขลังและสวยมากๆ

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า แม้แต่วัดชาวอีสานก็ต้องรวบรวมชาวบ้านสร้างวัด ที่พระเทศน์ภาษาอีสาน เพราะฟังพระเทศน์ แบบชาวเหนือไม่รู้เรื่อง ในปัจจุบันจึงมีพระจากอีสานมาจำพรรษาอยู่ในชุมชนด้วย ต่อมาเมื่อแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันในชุมชนนานขึ้น จึงมีความเข้าใจกันมากขึ้น ปัจจุบันทั้งคนอีสานและคนล้านนาในพื้นที่เริ่มปรับตัวและยอมรับซึ่งกันและกัน จึงทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมอย่างลงตัวจนเกิดเป็นชุมชน ท่องเที่ยวอีสานล้านนา มีบ้านหลายหลังที่เป็นบ้านพักโฮมสเตย์

อีสานล้านนาบ้านจำไก่8

รอบนี้ฉันไปพักที่บ้านแม่สำลี อัปมานะ เป็นเรือนปั้นหยาทรงไทย ยกพื้นสูง ห้องหับสะอาดสะอ้านกว้างขวาง แม่ทำอาหารมาเลี้ยงอย่างไม่เกรงใจพุงพลุ้ยๆ ของฉันเลย ตื่นแต่เช้าจะได้กลิ่นข้าวนึ่งใหม่ๆ หอมๆ ก่อนจะออกไปตักบาตร

อีสานล้านนาบ้านจำไก่9

สนุกในความต่าง

นั่งรถอีแต๊ก กินส้มตำลาว แล้วซื้อผ้าทอลูกผสมอีสานล้านนา

เสน่ห์ของชุมชนบ้านจำไก่นี้ คือ ความเนิบช้าสบายๆ แบบคนเหนือ แต่มีจังหวะสนุกสนานเร้าใจของอีสานเจือปน หากเดินเล่นในชุมชนก็จะได้ยินเสียงคนคุยกันสลับไปมาสามภาษา คือภาษาลาว ภาษาผู้ไท และภาษาเหนือ และด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา จึงมีวัดน่าเที่ยวอยู่หลายแห่ง เอาล่ะพร้อมแล้วไปเที่ยวกัน

อีสานล้านนาบ้านจำไก่10

ตื่นเช้าตักบาตร แค่บอกเขาไว้ว่าจะตักบาตร ทางโฮมสเตย์เขาก็จะจัดการให้ค่ะ

โปรแกรมเที่ยวของกลุ่มโฮมสเตย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง

วันแรก

เช้า เริ่มต้นที่ศูนย์การเรียนรู้ ในวัดบ้านใหม่ราษฏร์บำรุง  ที่นี่มีการสาธิต ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย นอกจากจะทำให้ดูแล้ว    ยังมีโอกาสได้ลองทำเองด้วย

ฝึกทำขนม เป็นขนมเทียนสูตรคนอีสาน ที่เรียกว่า ขนมหมก มีข้าวแต๋นหรือข้าวนางเล็ดอันใหญ่ๆ ให้ซื้อกลับเป็นของฝากด้วย

ฝึกทำบายศรีกับตุงผู้ไท

ชมสาธิตการทอผ้า แล้วก็ซื้อผ้าทอแบบอีสานในราคาผู้ผลิต

ชมสาธิตการจักสานลายละเอียด ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้ง หวดนึ่งข้าว กระติ๊บข้าว

ชมสาธิตการทอเสื่อกก เริ่มตั้งแต่ตัดต้นกก     จนเสร็จชิ้นงาน

ชมการทำสมุนไพรแปรรูป ดูการนวดแผนไทย
เที่ยงวัน พักรับประทานส้มตำแซ่บๆ อาหารมื้อเที่ยงแสนอร่อย

อีสานล้านนาบ้านจำไก่11

ช่วงบ่าย

นมัสการพระธาตุน้อยจำไก่ พร้อมเยี่ยมชม    สวนเกษตรผสมผสาน

เที่ยวอ่างเก็บนน้ำห้วยชมพู

นมัสการพระธาตุหลวงจำไก่

นมัสการพระธาตุแก้วแสงมงคล ณ อินเดียน้อยแห่งล้านนา

พุทธคยาจำลอง ที่อินเดียน้อย

ในช่วงเย็น ก็จะมีการกินพาแลงคือ สำรับ    อาหารเย็นของคนผู้ไท พร้อมการแสดงโปงลาง

อีสานล้านนาบ้านจำไก่13

ฉันไม่ได้ดูโปงลางตอนเย็น เพราะฝนตกหนักมาก กลุ่มแม่บ้านเลยจัดให้แต่เช้า

โฮมสเตย์และนำเที่ยว

ที่พักของที่นี่มีหลายหลังที่เข้าร่วม แต่ละหลังก็มีความแตกต่างกันไป โฮมสเตย์พร้อมอาหารรับรองจำนวน ๑๕ หลัง

ติดต่อโฮมสเตย์ได้ที่
ครูป้อม  08 9952 5508
ต๋อง 08 0676 9138

อีสานล้านนาบ้านจำไก่14

ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งช้อปปิ้งสินค้าชุมชน ฉันได้ผ้าพันคอลายผสมผสานของอิสานและล้านนา มาสิบผืน ราคาดีมากๆ

ราคาโปรแกรมท่องเที่ยว 1 วัน     40-100 คน อาหารว่าง 2 มื้อ อาหารกลางวัน  1 มื้อ ราคาคนละ 300 บาท
ราคาโปรแกรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน 40-100 คน อาหาร 2 มื้อ เช้าและเย็น ราคาคนละ 650 บาท ต่ำกว่า 40 คน ราคาคนละ 750 บาท

อีสานล้านนาบ้านจำไก่15

มีการสาธิตการทำเสื่อกก ตั้งแตการเริ่มตัดต้นกกกันเลยทีเดียว

*ข้อพึงปฏิบัติของโฮมสเตย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง

เตรียมเครื่องใช้ส่วนตัว

ไม่เล่นการพนันและดื่มสุรา

ไม่ส่งเสียงดัง

ไม่กระทำกิริยาเชิงชู้สาวภายในบ้าน

หากต้องการไปที่ไหนต้องแจ้งเจ้าของบ้าน

เคารพช่วยกันรักษาวัฒนธรรม การปฏิบัติตาม คำแนะนำหรือขนบธรรมเนียมของชุมชน

ควรแจ้งเจ้าของบ้านให้ทราบเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ การแพ้อาหาร ฯลฯ ก่อนการเข้าพัก

ร้านอาหารแนะนำที่พลาดไม่ได้ของชุมชนบ้านจำไก่
บ่อปลาพิศมัยดอกคำใต้1

เป็นร้านที่ทำขาหมู ไส้กรอกโฮมเมดเอง ของร้านพี่พิศมัย เปิดมาตั้งแต่ปี 2549 ชื่อร้านบ่อปลาพิศมัย แต่รู้จักในนามขาหมูดอกคำใต้ ขานี้หนักมากกว่า 1 กิโล ราคา 400 กว่าบาท อร่อยมาก ไม่เค็มด้วย ไส้กรอกนี่ไม่แน่นมาก หยุ่นนิ่มเด้งดึงกำลังดี ราคา 149 บาทต่อจาน  ชอบสุดๆ การันตีได้จากสามีคุณพี่เขาที่เป็นชาวเยอรมัน ว่างๆ ก็อบขนมปังโฮมเมด หอมตลบอบอวลไปทั้งบ้าน แบบว่าใครดีใครได้

เปิด 9.00-21.00

การเดินทาง

ถ้ามาจากตัวเมืองพะเยามาทางแยกแม่ต๋ำที่จะไปดอกคำใต้ ตรงมาเรื่อยๆ ทางโรงพยาบาลดอกคำใต้ จะเจอปั๊ม BP ไม่ต้อง ยูเทิร์น ไมต้องเลี้ยว ตรงมา 6 กิโลที่หมู่บ้านจำไก่

โทร 054 895 065

You Might Also Like