ซื้อตุ๊กตาถัก สักการะพระเจ้านั่งดิน กินลาบเมือง
ที่บ้านพระเจ้านั่งดิน
บ้านพระนั่งดิน เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ของอำเภอเชียงคำที่จังหวัดพะเยา ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเชียงคำนั้น คือไตยวน และไตลื้อ ที่บ้านพระนั่งดินมีจำนวนคนไตลื้อน้อยกว่าไตยวนมาก ในชุมชนเล็กๆ ที่เป็นเครือญาติกันนี้ นับถือทั้งศาสนาพุธและศาสนาคริสต์ ซึ่งมีอยู่ราวๆ 10% ของประชากรในหมู่บ้าน จึงพบป่าช้าแบบคริสต์ และป่าช้าแบบไทยอยู่ห่างกันเพียงฟากถนนกั้น ด้วยความที่ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน แม้ว่านับถือศาสนาต่างกันก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและมีความสุขได้
พ่อหลวงภูวนัย เกิดสุข บ้านพระนั่งดิน ได้เล่าให้ฟังว่าบ้านพระนั่งดินนั้นเป็นชุมชนที่อพยพมาจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่านประมาณ 200 กว่าปีมาตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ร่วมกันและได้มาเจอพระเจ้านั่งดิน ซึ่งในตอนนั้นก็น่าจะที่มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้วจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามองค์พระเจ้านั่งดินเป็นบ้านพระนั่งดิน

พ่อหลวงภูวนัยไกด์กิตติมศักดิ์ พาเราสำรวจชุมชน
เมื่อได้เดินทางมาถึงที่บ้านพระเจ้านั่งดินและได้เดินเล่นไปรอบๆหมู่บ้านแล้ว จะมีความรู้สึกเหมือนที่นี่น่าจะเป็นเมืองเก่า เพราะถนน ซอยเล็กซอยน้อยต่างๆ ชวนให้คิดถึงเมืองโบราณซึ่งก็จริงดังคาด บ้านนั่งดินห่างจากตัวอำเภอเชียงคำ ราว 4 กิโลเมตร เชเมืองเก่าเชียงคำนั้น สันนิษฐานว่าเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนที่ราบแอ่งกระทะ มีแม่น้ำลาวไหลผ่าน ฝั่งขวาคือ ‘เวียงหลวง’ ครอบคลุมพื้นที่ของบ้านเวียง บ้านดอนไชย และบ้านดอนแก้วปัจจุบัน และ ‘เวียงพระนั่งดิน’อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ครอบคลุม พื้นที่บ้านไชยพรม บ้านพระนั่งดิน บ้านคือและบ้านดอนแก้วบางส่วน ตำนานของวัดพระธาตุดอยคำกล่าวว่าเชียงคำเดิมชื่อ เวียงชะราว
ในขณะที่ตำนานวัดพระนั่งดิน กล่าวว่า เมืองเชียงคำนั้นเดิมชื่อเมืองพุทธรส และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระนั่งดินไว้ว่า พญาคำแดง เจ้าเมืองผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้สร้างวัดพระนั่งดิน ขึ้นมา มีนามว่าพระนั่งดิน ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวถึงตำนานพระนั่งดินว่า เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จมาถึงเวียงพุทธรสะพระองค์ได้เสด็จประทับอยู่บนดอยสิงกุตตระ (พระธาตุดอยคำในปัจจุบัน) ทรงแผ่เมตตาและประสาทพร ตรัสสั่งพระยาคำแดงเจ้าเมืองพุทธรสะในขณะนั้น ให้สร้างรูปเหมือนของพระองค์ไว้ยังเมืองพุทธรสะนี้ พอสัพพัญญูเจ้าตรัสจบ ก็ปรากฏว่ามี พระยาอินทร์ องค์หนึ่ง พระยานาคตนหนึ่ง พระฤาษี ๒ ตน และพระอรหันต์ ๔ องค์ ช่วยกันเนรมิตเอาดินศักดิ์สิทธิ์จากเมืองลังกาทวีป มาสร้างพระรูปเหมือนของพระพุทธองค์ โดยใช้เวลาสร้าง หนึ่งเดือนกับเจ็ดวันจึงแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ ได้เสด็จโปรดสัตว์ทั่วถึงแล้ว จึงได้เสด็จเข้าสู่เมืองพุทธรสะอีกครั้งทรงเห็นรูปเหมือนที่ให้ทรงสร้างนั้น เล็กกว่าองค์ตถาคต จึงตรัสให้เอาดินมาเสริมให้ใหญ่เท่าพระองค์ แล้วพระสัพพัญญูเจ้าได้แผ่รัศมีออกครอบจักรวาล รูปปั้นจำลองจึงเลื่อนลงจากฐานชุกชี (แท่น) มากราบไหว้ พระสัพพัญญูเจ้า พระองค์ได้ตรัสเทศนากับรูปเหมือนที่ให้สร้างขึ้นนั้นว่า “ขอให้ท่านจงอยู่รักษาศาสนาของกู ตถาคตให้ครบ ๕,๐๐๐ พระวรรษา” พระรูปเหมือนนั้น ได้กราบน้อมรับเอาแล้วประดิษฐานอยู่บนผืนดินนั้น พระรูปเหมือนดังกล่าว คือ องค์พระเจ้านั่งดิน ในปัจจุบันนี้เอง
พระเจ้านั่งดินจึงไม่ได้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเหมือนพระประธานในวิหารทั่วไปในล้านนา ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าว่า มีความพยายามสร้างฐานชุกชี และอัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประดิษฐานบนฐานชุกชี แต่ว่าเกิดเหตุอัศจรรย์ คือมีฟ้าผ่าที่วิหารถึง ๓ ครั้ง จึงได้อัญเชิญพระเจ้านั่งดินประดิษฐานบนพื้นดินที่เดิม ปัจจุบันนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาในพระเจ้านั่งดินมักจะเดินทางมาเพื่อขอพรจากพระเจ้านั่งดินเพราะเชื่อว่าเมื่อขอสิ่งใดมักได้ตามประสงค์ นอกจากนี้ยังมีการบูชาน้ำมัน มีความหมายเพื่อให้กิจการต่างๆ ลื่นไหล ไม่มีอุปสรรค เนื่องจากไม่กี่ปีก่อนเกิดไฟไหม้ บ่อน้ำมันสำหรับจุดไฟจึงเปลี่ยนมาเป็นที่กราบไหว้ปกติ สำหรับชาวบ้านที่นี่ พระนั่งดินคือศูนย์กลางของชุมชน
วัดพระนั่งดินนอกจากจะเป็นศูนย์รวมใจแล้ว ยังเป็นศุนย์กิจกรรมของชุมชน พ่อหลวงภูวดลเล่าให้เราฟังว่า เดี๋ยวนี้ลูกหลานเด็กรุ่นใหม่ไปทำงานต่างจังหวัดกันหมด เหลือแต่ลุงป้าย่ายาย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด หรือเป็นโรคซึมเศร้า ก็เลยมารวมตัวกันที่วัด ทำเทียนคาถา เปิดเพลงฟังค่าวซอกันอย่างเอิกเริก
ที่นี่เค้าทันสมัยมากมีฟรีไวไฟให้ทุกคนไปรับพาสเวิร์ดที่เทศบาลตำบลเวียง มีทั้งหมด 10 จุด ในตำบลเวียง. ที่ถ่ายคือหน้าวัดพระนั่งดินสัญญาณก็ดีใช้ได้ทีเดียว ไปลองกันนะคะ
เมื่อพูดถึงเรื่องเวียงเก่าแล้วก็เลยคิดว่า หากมีเวลาอยากชวนให้ไปหมู่บ้านใกล้เคียง คือ บ้านเวียง ที่วัดเวียงพระแก้ว เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองเชียงคำเก่า เมื่อก่อนชื่อวัดเวียงหลวง ที่เปลี่ยนเป็นวัดเวียงพระแก้วเพราะเชื่อว่าพระไชยเชษฐาธิราชได้เคยนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่นี่ชั่วคราว ถือเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงคำ อีกวัดหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพระนั่งดิน

ศาลหลักเมืองเชียงคำ
ตอนที่เดินทางไปที่บ้านพระนั่งดิน ฉันก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี จากบ้าน โฮมสเตย์บ้านแม่แม่อมรา ที่นี่นอกจากจะเป็นโฮมสเตย์แล้วยังเป็นโรงงานตุ๊กตาถักชื่อ ถักทอ ของน้องสาว เป็นตุ๊กตาถักที่เปลี่ยนชุดได้ขายดีและโด่งดังมาก แม่อมราเรื่องราวระหว่างพี่น้องให้ฟังระหว่างกินอาหาร ทำให้น้ำพริกเห็ดด่าน ตำขนุนและแกงแค อร่อยขึ้นมากมาย
แกเล่าว่าได้โต๊ะไม้สวยๆ มา น้องสาวก็ขอให้ขัดใหม่ ซื้อกระเบื้องทำบ้านสีน้ำเงินสวยๆ สีแรงๆ น้องสาวก็ขอให้เปลี่ยนเป็น สีน้ำตาล แต่เพราะน้องสาวเปิดร้านตุ๊กตาถักโด่งดังพี่สาวเลยยอมเรื่องรสนิยม นี่โดนน้องสาวบังคับให้กินไรซ์เบอร์รี่ แต่ตัวแกแอบหุงข้าวเหนียวทุกวัน 555
โฮมสเตย์บ้านแม่อมราอยู่ตรงข้ามวัดพระนั่งดิน สนใจติดต่อ พ่อหลวง ภูวนัย เบอร์ 089 266 1154
ด้านหน้าของโฮมสเตย์ คือส่วนของโชว์รูม บ้านถักทอ ซึ่งเกิดจากผลงานของคุณอ๋อย สายอรุณ เวียงคำ ซึ่งเริ่มต้นจากการเห็นเศษใยผ้าฝ้ายและเศษผ้าเหลือใช้ ของโรงงานแห่งหนึ่ง จึงคิดจะเอามามำให้เป็นประโยชน์ จึงรวมกลุ่มแม่บ้านมาถักโครเชต์ และสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาหลายตัว ชิ้นที่โดดเด่นคือตุ๊กตาถักโครเชต์หัวโตๆ ยัดใยสังเคราะห์ เพิ่มความสนุกด้วยการทำเสื้อผ้าชุดต่างๆ ให้ตุ๊กตานั้นเปลี่ยนเสื้อผ้าได้
นอกเหนือจากนี้ยังมี สินค้าชิ้นเล็กๆ ทำเป็นของที่ระลึกของแต่งบ้าน สามารถซื้อหาหรือสั่งทำได้
จากบ้านถักทอ พ่อหลวงโจหรือพ่อหลวงภูวนัย ยังพาเรานั่งซาเล้งไปเที่ยวบ้านพี่ นงคราญ บ้านทำฝ้ายทอมือ ไปดูฝ้ายสีเขียวธรรมชาติ ทำให้ได้ผ้าฝ้ายสีเขียวจากธรรมชาติจริงๆ สำหรับสีอื่นๆ นั้น พี่นงคราญก็ใช้สีจากธรรมชาติย้อมทั้งหมด สีดำได้จกมะเกลือ สีม่วงจากใบสักและครั้ง เขียวคือจากต้นฝ้ายพันธุ์สีเขียว และสีน้ำตาลจากฝ้ายพันธุ์สีน้ำตาล ทำให้ได้ผ้าฝ้ายสีธรรมชาติทั้งผืน ส่วนใหญ่จะทอลายตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่ง นอกจากจะย้อมฝ้ายเองแล้ว ยังปลูกฝ้ายเองอีกด้วย เรียกว่าทำเอง ทุกกระบวนการ สวยงามมากๆ สำหรับใครที่สนใจเรื่องสวนผสมอยู่ ลองเข้าไปดูสวนของพี่นงคราญ ที่เป็นระเบียบ ดูเนี้ยบไปเสียทุกส่วน เหมือนบ้านของแก ทำให้บ้านแกไม่ต้องลำบากซื้อผัก ซื้อไข่ เลยแม้แต่น้อย
นงคราญผ้าฝ้าย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 103 หมู่ 7 ตำบลเวียง จากพะเยา
มาทางดอกคำใต้ จุนเข้าเชียงคำ เจอโรงพยาบาลเจอสามแยกไฟแดงเลี้ยวขวา เจอพระนั่งดินเลี้ยวซ้าย เลยโบสถ์คริสต์จักรเข้ามานิดหน่อย
จากบ้านพี่นงคราญ เราก็ขึ้นซาเล้งไปศูนย์ทอผ้าอีกที่ของบ้านเวียงหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ที่นี่เขาทอผ้าถุงเป็นเครื่องแบบให้นักเรียนโรงเรียนเชียงคำที่ใส่ในวันศุกร์ วิทยาคมด้วย สีแดงเป็นของม.ต้น ม.ปลาย เป็นสีดำ มันเก๋และเท่มากๆ ทอเสร็จก็เอาไปให้ช่างตัดเย็บส่งโรงเรียน เป็นลายลื้อเฉพาะของโรงเรียน ใช้เวลา สองวันได้ 3 ผืน ตอนที่ไปเก็บข้อมุลพ่อหลวงเขายังไม่ได้ทำโปรแกรมออกมา แต่มาส่งให้ทีหลังค่ะ
นั่งซาเล้งชมเมือง ไหว้สาพระนั่งดิน
ความน่ารักของเมืองเล็ก ที่เป็นสังคมเครือญาติ ทำให้เมื่อเดินไปทางไหนก็รู้สึกอบอุ่น ในแต่ละมุม ของเมืองมีเรื่องราวเล็กๆ ซ่อนอยู่ ลองมาลดจังหวะ ให้ช้าลงแล้วค่อยๆ เที่ยวที่นี่ ไม่ว่าจะไปนั่งพูดคุยกับกลุ่มคุณตาคุณยายผู้มากอารมณ์ขัน ที่นั่งทำเทียนในศาลาใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นในบริเวณวัด หรือไปดูโรงงานทอผ้าชุมชนที่ผลิตยูนิฟอร์มชุดพื้นเมืองให้เด็กนักเรียน เดินเล่นดูป่าชุมชน ซื้อตุ๊กตาถัก และอีกมากมาย ลองมาดูตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชนกันค่ะ
โปรแกรมเที่ยวบ้านพระนั่งดิน
ช่วงเช้า
ทำบุญตักบาตรที่วัดพระนั่งดิน
เที่ยวตลาดชุมชน – เข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหิว
ตามเขา ชิมอาหารแบบคนเมือง
สักการะพระนั่งดิน – เสี่ยงเซียมซี ไหว้พระ
ชมการสาธิตการทำเทียนคาถา – ภายในวัดพระนั่งดินมีศาลาใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เป็นที่พบปะกันของกลุ่มผู้สูงอายุที่ลูกหลานต่างก็จากไปมีครอบครัวและทำงานต่างจังหวัด พวกเขามารวมกลุ่มกันทุกวันเพื่อทำเทียนคาถา ขายในวัดพระนั่งดิน จากนั้นก็ไปเที่ยวดูกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชน และกลุ่มเกษตรกรที่ทำการประมงบ้านพระนั่งดิน
อาหารเที่ยง
ตามหาตำนานขุนพลลาบ – รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านลาบลุงรบ อาหารสูตรคนเมืองแท้ๆ
ช่วงบ่าย
เที่ยวชมโบสถ์คริสเตียน – ที่โบสถ์นี้ยังเป็น ศูนย์ฝึกฝีมือมีการสอนการทำขนม เช่น ขนมเทียน หรือขนมจ็อก
ช้อปปิ้ง – ตุ๊กตาถักเปลี่ยนชุดได้ที่บ้านถักทอ
ช่วงเย็น
มื้อเย็นที่โฮมสเตย์
โฮมสเตย์และนำเที่ยว
ที่บ้านพระนั่งดิน เพิ่งเปิดหมู่บ้านเป็นหมู่บ้าน โฮมสเตย์ได้ไม่นานแต่ก็มีความพร้อมในการต้อนรับ
นักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ติดต่อที่พักโฮมสเตย์ที่
ผู้ใหญ่บ้าน ภูวนัย เกิดสุข โทร 08 9266 1154
การเดินทาง
บ้านพระนั่งดินตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จากในเมืองพะเยา เดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1021 ดอกคำใต้ เชียงคำ มาราว 4 กิโลเมตร
ของอร่อยประจำชุมชน
ตำนานขุนพลลาบแห่งเชียงคำ

ลาบอันลือเลี่องของลุงรบ ตัวจากไปแต่ชื่อยังอยู่
ลุงรบหรือพ่อหลวงรบเป็นหนึ่งในสามของขุนพลลาบแห่งอำเภอเชียงคำ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสไตล์แตกต่างกันไป แม้ว่าลุงรบจะจากไปแล้วแต่ยังคงมี ป้ารีภรรยาดูแลความอร่อยในทุกขั้นตอน สังเกตว่า ลูกค้ายังคงหนาแน่นเหมือนเดิม นี่จะบอกว่าฉันกินทุกอย่างที่มีในเมนูจริงๆ ขอ โพสท์รูป รัวๆ ส่วนหนึ่งที่สั่งก็แล้วกันนะคะ ร้านอยู่บริเวณใกล้กับวัดพระนั่งดิน

จิ๊นนึ่งน้ำพริกข่า ที่อย่าได้พลาด

ส้าโซ่ม เนื้อสดๆ เด้งๆ กินลาบไปเยอะเอามาสะดุ้งกับกระทะนิดหน่อยก็อร่อยมาก

ไส้ทอด ไอเท่มที่ควรแก่การสั่ง
โทร: 08 0848 7589, 06 1378 7448