กินสนั่น…วันสนุก
ที่บ้านปงใหม่
ข้าวแคบ ไรซ์เบอร์รี่ ฝีมือกลุ่มแม่บ้านผู้สูงอายุหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา อากาศดี น้ำสะอาดใส หมู่บ้านเล็กๆ นี้ มีสิ่งอันที่น่าทึ่งหลายต่อหลายอย่าง ตอนที่ฉันรอนแรมไปเก็บข้อมูลนั้น แทบไม่รู้เลยว่าที่นั่นมีอะไรบ้าง รู้แต่ว่ามีฟาร์มเห็ด ฟาร์มกบ และสวนฮอมผญา พอมาถึงจริงๆ โอ้ว…ที่นี่มีความมั่นคงทางอาหารสูงมากๆ

ข้าวแคบไรซ์เบอร์รี่ ฝีมือกลุ่มแม่บ้านสูงอายุบ้านปงใหม่
ผญากับอาหารของชาวบ้านปงใหม่

เตาทำข้าวแคบก่อนที่จะเอาไปตากให้แห้ง
คำว่า ผญาเป็นคำเมือง หมายถึง ปัญญา ความฉลาด และองค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการคิด ผญาล้านนาคือองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวบ้านชุมชนบ้านปงใหม่ ได้ร่วมกันรื้อฟื้นความรู้และภูมิปัญญา ของคนรุ่นเก่ามาปรับใช้ให้สมกับยุคสมัย และนำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนที่ เต็มไปด้วยสาระความรู้ และอิ่มท้อง
นอกเหนือจากนี้ ทางชุมชนยังมีระบบการดูแลผู้สูงอายุ ที่ลูกหลานจากไปทำงานไกลบ้าน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา Skip Generation เช่นเดียวกับชุมชนในชนบทหลายๆ พื้นที่ คือรุ่นปู่ย่าถูกทิ้งไว้ให้อยู่กับหลาน ในขณะที่พ่อแม่นั้นออกไปหากินต่างจังหวัด ทิ้งหลานไว้กับปู่ย่าตายาย เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ พากันย้ายออกไปทำงานในเมือง แล้วปู่ย่าตายายก็ อยู่กับบ้าน และ ไร่นา ที่ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำต่อไปได้ น่าดีใจที่มีกลุ่มลูกหลานหลายคนคิดกลับมาพัฒนาบ้าน มาช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีสังคม และช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน จัดตั้งเป็นกลุ่มต่างๆ มาแปรรูปอาหาร และอุปกรณ์ทำอาหาร อาทิ มีการตีมีดทำครัว มีดตัดไม้ขาย รวมกลุ่มผู้สูงอายุหญิงทำข้าวแคบ มีการพลิกแพลงเปลี่ยนส่วนผสมต่างๆ ให้ดีต่อสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น ใส่งาดำบด ใส่ฟักทอง ใส่ดอกอัญชัน หรือ ใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่มาทำ กลุ่มผู้สูงอายุชายที่ทำ เครื่องสีข้าวหมุนมือที่ทำจากไม้ ทั้งสองกลุ่มนี้ ทำงานอยู่ใกล้ๆ กัน เอิ้นหยอกกันเรื่องลูกหลาน เปิดวิทยุฟังข่าว ฟังเพลงด้วยกันขณะทำงาน

คุกกี้ถั่วที่กลุ่มแม่บ้าน กำลังหัดทำเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้ถั่วลิสงผลผลิตที่มีมากในชุมชน
การจัดการแรงงานในชุมชนที่มีประสิทธิภาพอีกอย่างหนึ่งคือ การรวมกลุ่มกัน อบรม ทำอาหาร สร้างความรู้ให้กับแม่บ้าน เพื่อให้แม่บ้านรู้จักการแปรรูปวัตถุดิบที่ปลูกมาใช้ และสามารถนำมาขายให้มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็น การแปรรูปสมุนไพรมาทำยา ทำลูกประคบ ยาดม เมื่อผลผลิตทางการเกษตรเหลือมากมาย ให้รู้จักการแปรรูปอาหาร เช่นในฤดูกาลที่ ถั่วลิสงเหลือล้นตลาด ก็สามารถนำถั่วลิสงมาทำคุกกี้ขาย หรือทำถั่วเคลือบโอวัลติน ออกขายสร้างรายได้
เสน่ห์ของคนบ้านนี้ จึงเป็นความกลมเกลียวกันในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่กลับมาพัฒนาพื้นที่ของบรรพบุรุษ พวกเขาทำงานอย่างหนัก จนกลายเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จ เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวน่าจะได้ไปสัมผัส เพราะ จะได้ทั้งอาหารท้องและอาหารสมอง ที่นี่มีไฮไลต์อะไรบ้างลองไปดูกันค่ะ

กาแฟหอมกรุ่นที่ สวนฮอมผญา ที่พักร่างกายและจิตวิญญาณ
สวนฮอมผญา : แหล่งรวมภูมิปัญญา ภายใต้หลักคิด Health Farm อาหาร ผ้าและยาธรรมชาติ อาหารแปรรูปจากผักอายุยืนในสวนหลังบ้าน ไม่นิยมใส่เครื่องปรุงรส เติมรสด้วยผงนัวผงชูรสของคน พื้นถิ่น มีกิจกรรม Work shop ห่อลูกประคบ กลับบ้าน ทำยาดมสมุนไพรติดมือ บริการนวด พอกโคลน อบสมุนไพร ประคบ แช่มือแช่เท้า นิทานบนผืนผ้า เรียนรู้ทำผ้ามัดย้อมสีจากธรรมชาติผืนแรกลายเดียวในโลก

แหนมเห็ด รสชาติดีมากๆ
ฟาร์มเห็ดสุขใจ : ม่อนป่งบง อาณาจักรเล็กๆ ที่หญิงสาวตัวเล็กที่หันหลังให้กับชีวิตในเมืองหลวง กลับบ้านเกิดสร้างฝันและทำจริง จนเป็นฟาร์มเห็ดสุขใจ มีกิจกรรม Work shop เรียนรู้การทำแหนมเห็ด ชมและเรียนรู้เส้นทางเห็ดทำก้อน เปิดดอก เก็บปรุงอาหาร นำมาแปรรูปต่างๆ นานา

กบอั่ว อาหารจานเด็ดที่ไปขอสวนลมหายใจเขาทำให้กิน โอ้ย…มันอร่อยมาก
สวนลมหายใจ : วิถีคนสวนที่มีอิสระในการคิด ทำประกันชีวิตโดยการฝากเงินไว้ในดินในต้นไม้ เติบใหญ่ และงอกงามทุกวัน ด้วยรูปแบบเกษตรผสมผสาน ผักพื้นบ้าน ผลไม้ เพาะพันธุ์กบ เมนูอาหารจากกบ
ทำความรู้จักกับหัวอิหยอ
เมนูยำหัวอีหยอ บ้านปงใหม่
หัวอีหยอ หรือบุกไข่ เอามากินเลยไม่ได้นะคะ คันคอมากเลยทีเดียว แม่จวน วงศ์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวอิหยอ เล่าให้ฟังว่า แกเอาต้นมาจากม้ง ปลูกแล้วก็เอาหัวมากิน วิธีการก็ซับซ้อนเหลือประมาณ ต้องเตรียมน้ำขี้เถ้าก่อน โดยการเอาขี้เถ้ามากรองน้ำ เอาน้ำใสๆ มาต้ม ทิ้งให้เย็นแล้วจึงนำมาใช้ต้มหัวอีหยอ ที่ปอกเปลือกแล้ว ต้มจนเปื่อย บี้ลงในผ้าขาว แล้วคั้นผ่านน้ำจนละเอียดเป็นเม็ดเหมือนทราย นำมายำใส่มะนาวพริกป่น กระเทียม หอมแดง เกลือ ผงชูรส ผักชีฝรั่ง ผักไผ่ และ ใบมะกรูด ออกมาหอมอร่อยดี

หัวอิหยอต้มแล้ว กำลังจะเอามาใส่ผ้าขาวขยี้ผ่านน้ำ
เที่ยวแบบปลอดสาร
โปรแกรมที่ ๑ ท่องเที่ยวชุมชน ๑ วัน (ไป – กลับ)
๑. ดูวีดีทัศน์ ภาพรวมวิถีท่องเที่ยวชุมชน บ้านปงใหม่ ท่องเที่ยวเชิงชีววิถี สุขภาวะดี ตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “งาม สบาย เรียบง่าย รื่นรมย์”
๒. จิบกาแฟ-ชามะเดื่อ สมุนไพรต้ม ชมสวน
แช่มือ แช่เท้า ผ่อนคลาย
๓. เข้าฟาร์มเห็ด ชิมเมนู เห็ด เห็ด พร้อมซื้อของฝากผลิตภัณฑ์เห็ดเป็นของฝาก
๔. ไปชม บ้านสวนลมหายใจ ชิมเมนูจากผัก พื้นบ้าน เมนูกบ ผ่อนคลาย รื่นรมย์กับบรรยากาศ สวนเกษตรผสมผสาน
๕. แวะลานวัฒนธรรม ดูเครื่องสีข้าวกล้องมือหมุนกลุ่มผู้สูงอายุ ดูการทำข้าวแคบจากข้าวกล้อง
๖. ปิดท้าย ฮิมห้วยปู คอฟฟี่ & เบเกอรี่ จิบ เครื่องดื่ม ชิมเค้กไม้ไผ่ สุขใจกับบรรยากาศ ริมอ่างห้วยปู ผ่อนคลายสบายใจก่อนกลับ
โปรแกรมที่ ๒ ท่องเที่ยวชุมชน ๒ วัน ๑ คืน
วันที่ ๑
พานักท่องเที่ยว สักการะพระประธานรูปงาม
สักการะเจ้าหลวงคำแดง ศูนย์รวมที่พึ่งทางจิตใจของคนในชุมชน
ผ่อนคลายกับสปาพื้นบ้าน ที่สวนฮอมผญา นวด อบ ประคบ พอก แช่มือ แช่เท้า ทำยาดม ส้มมือ หรือจะคลุกดินเปื้อนโคลน กับการย้อมผ้าสีจากธรรมชาติ
ทานอาหารมื้อเที่ยง เมนูเพื่อสุขภาพ พร้อม เมนูเห็ด
เที่ยวชม เรียนรู้ แหล่งผลิตเห็ด เห็ดแปรรูป เมนูเห็ด เห็ด ผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้าน สัมมาชีพบ้านปงใหม่
แวะชิมกาแฟ ฮิมห้วยปูคอฟฟี่ ผ่อนคลายกับบรรยากาศอ่างห้วยปู
เข้าที่พักบ้านโฮมสเตย์
ทานมื้อเย็น ขันโตก ลานวัฒนธรรม
วันที่ ๒
ไหว้สักการะ พระธาตุขุนบง ชมวิวอ่างห้วยบง
เยี่ยมชมกลุ่มเย็บผ้า ผ้าม้งแปรรูป
บ้านสวนลมหายใจ ชมสวนเกษตรผสมผสาน ชิมเมนูกบ
เที่ยวลานวัฒนธรรม ชมการทำเครื่องสีข้าวกล้องมือหมุน การทำข้าวแคบจากข้าวกล้อง การตีมีด และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ กลุ่มผู้สูงอายุ เดินทางกลับบ้าน
โฮมสเตย์และนำเที่ยว
บ้านปงใหม่ มีกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วม โฮมเสตย์ทั้งหมด ๑๕ หลัง สามารถติดต่อผ่านเพจ ฮักปงใหม่ อ้อมกอดบ้านเกิด อบอุ่นเสมอ
๑. นายสมพร เวียนรอบ ๐ ๙๓๗๒ ๐๐๖๖ ๐ (ผู้ใหญ่บ้าน)
๒. นายพิชิต กันทะรัตน์ ๐ ๘๕๖๒ ๑๕๑๖ ๘
๓. นายเด่นชาย บัวติ๊บ ๐ ๘๒๑๘ ๗๑๙๖ ๕
๔. น.ส.เอื้ออังกูร สุขใจ ๐ ๙๐๒๑ ๗๘๒๙ ๖
๕. นายภัทรศักดิ์ วงศ์ใหญ่ ๐ ๙๓๑๕ ๑๙๗๔ ๔