ดื่มด่ำอาหารงามราวบทกวีริมถนน แต่อดเปรมปรีกับอาหารแนะนำ
Yuan Mei 袁枚 กับพ่อครัวของเขา เขาเป็นกูรูอาหารคนแรกของจีน เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารไว้ถึงสี่เล่ม (ภาพที่พิพิธภัณฑ์อาหาร) เขาเป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า
“Judging Food Like Commenting Poem”
คารวะสองกูรูแห่งหางโจว
เส้นทางที่ทำให้เมืองนี้กลายมาเป็นเมืองอาหารศิวิไลซ์ นั้นมีเบื้องลึกค่ะ เพราะหางโจวเคยเป็น 1 ในหกของเมืองหลวงเก่าจีน …ละมันสำคัญยังไง ฉันเลยลองเป็นโคนันห้องบางขุนพรมในพันทิปสักวัน นั่งปะติดปะต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ว่า เมื่อช่วงที่ราชวงศ์ถังเสื่อมอำนาจลง เพราะการแย่งชิงอำนาจของขุนนาง จึงให้โอกาสกับอีกราชวงศ์หนึ่งขึ้นมาเรืองอำนาจ นั่นคือราชวงศ์ซ้องหรือ ราชวงศ์ซ่ง แบ่งได้เป็นสองยุคคือซ่งเหนือ (ค.ศ. 906-1137) มีเมืองหลวงคือ ไคฟง ที่ทำงานเปาบุ้นจิ้น ชาวเมืองอยู่ไปอยู่มาโดนพวกเพื่อนบ้านรังแก เลยย้ายเมืองมาเป็น เมืองซ่งใต้ (ค.ศ. 1137-1279) มีเมืองหลวงชื่อหลินอัน หรือหางโจว (หางโจวปัจจุบันอยูในมณฑลเจ้อเจียง) ทำไมน่ะเรอะ ก็เพราะเมืองนี้พร้อมในด้านการพาณิชย์เป็นที่สุด มีการขุดคูคลอง สมัยรัชกาลที่สองของราชวงศ์สุย การค้าเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งนั้น แถมยังมีทะเลสาปด้านตะวันตก เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมือง เรียกว่า ถ้าชาวเมืองนอยด์ถูกล้อมเมืองยังไง ก็ไม่อดตาย จุดเด่นของหางโจวอีกอย่างนั่นคือ ความสวยงามของเมือง เปรียบได้ว่าเป็นเมืองที่งดงามที่สุดในโลก กล่าวโดย มาร์โคโปโลแบคแพคเกอร์รุ่นเก๋า (ค.ศ. 1230) ข้อดีของการเป็นเมืองหลวงนั้นทำให้หางโจวเจริญในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน เพราะเป็นการฟีเจอริ่งกันของอาหารเหนือและใต้ จึงไม่น่าสงสัยว่าไฉนอาหารของที่นี่ถึงรสชาติดีนัก
แม่ลูกทำ 粽子Zòngzi หรือบ้านเราเรียกบ๊ะจ่าง ถวายพระ (ในพิพิธภัณฑ์อาหารหางโจว)
ที่มาของอาหารที่น่าสนใจที่คนไทยเรารู้จักกันดี นั่นคือ บ๊ะจ่าง เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ตอนนั้น 粽子: Zòngzi (โจ้งจึ) ไม่หรูหราฟู่ฟ่ามาก จนมาถึงสมัยนี้ที่เมืองจีนลองซื้อดูก็ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนบ้านเรา มักกินในช่วง ล่องเรือมังกร แล้วก็แพร่หลายมาเรื่อย จนแต่ละบ้านเขาทำเพื่อถวายพระ และอยู่ยาวนานมาจนปัจจุบัน
ปาร์ตี้ หมูตงโพ (东坡肉:Dōng pō ròu) หลังขุดลอกทะเลสาบซีหู (ในพิพิธภัณฑ์อาหารหางโจว)
มีเรื่องเล่าของอาหารที่โด่งดังของที่นี่อีกอย่างหนึ่งคือหมูสามชั้นต้มซีอิ๊ว ว่ากันว่า มีครั้งหนึ่งที่ทะเสสาบซีหูถูกทิ้งร้าง และตื้นขึ้น แม้แต่น้ำก็ดื่มไม่ได้ ผู้ว่าการ ขณะนั้น คือนาย ซูตงโพ เลยจัดหนักขนชาวบ้านมาขุดลอกคูคลองกันเป็นการใหญ่ พอสำเร็จเสร็จสิ้นดี จึงคิดทำอาหารออกมาเลี้ยงเพื่อขอบคุณที่ช่วยกัน อาหารที่เลี้ยงตอนนั้นเลยเรียกว่า 东坡肉:Dōng pō ròu หมูซีอิ๊วสูตรพ่อเมืองตงโพ ถ้าอยู่เมืองไทยสมัยนี้ ท่านอาจจะจัดตงโพใหญ่ที่สุดในโลกลงกินเนสสร้างชื่อกันไป
ผ่านมาอีกหลายยุคสมัย ชาวเมืองหางโจวได้พัฒนาสูตรอาหารหลายต่อหลายอย่าง แต่กว่าจะมีคนคิดค้นคว้ารวบรวมทำเรื่องอาหารของหางโจว ขึ้นมาก็ล่วงเข้ามาถึงยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน เขาผู้นั้นก็คือ 袁枚 : Yuán Méi( ค.ศ. 1716–1797) เขาทำงานร่วมกับพ่อครัวคู่ใจ จดบันทึกเป็นตำราอาหารของหางโจวขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นตำราเกี่ยวกับอาหาร สี่เล่มแรกๆของโลกเลยก็ว่าได้ เขาไม่ใช่นักชิมอย่างเดียว เขาเป็นทั้ง จิตรกร และกวี ชอบคำพูดของเขาที่ว่า “Judging Food Like Commenting Poem” มันโดนมากเชียวค่ะ เกิดสมัยนั้นคงไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์แน่ๆ
ภาพจำลองร้านอาหารบริเวณที่มีการล่องเรือในอดีต ก็เหมือนบ้านเรา เมื่อมีคนมุงมีที่เที่ยวย่อมมีรถปลาหมึก รถส้มตำ ในเวลานั้นพอทางการเขาจัดเป็นที่สำหรับนักท่องเที่ยวเลยมีร้านอาหารเพียบ แขวนวัตถุดิบโชว์กันเลย (ภาพจำลองในพิพิธภัณฑ์อาหาร)
ที่เขียนมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์อาหาร ที่ชาว Foodie อย่างเราๆ ต้องกรีดร้อง เขาเล่าเรื่องตั้งแต่ยุคต้นๆ ไปจนถึงยุคปัจุบันและเลยไปเกริ่นถึงอนาคตนิดหน่อย เรื่องราวของอาหารนี้จัดแสดงไว้ ใน พิพิธภัณฑ์อาหารหางโจว ซึ่งขอบอกว่าบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าอยู่ที่ไหน ยึดหลักไว้ค่ะ แผนที่อยู่ที่ปาก
พึ่งป้ายละกันนะคะ ชื่อของพิพิธภัณพ์ภาษาจีนคือ 杭州菜博物馆: Hángzhōu cài bówùguǎn หางโจว ไช่ โบ๋วู้กว่าน เปิด 10.30 น. – 17.00 น. จะให้ดีควร ไปควบช่วงอาหารเย็น ดูพิพิธภัณฑ์แล้วกินอาหารในภัตตาคารของพิพิธภัณฑ์ด้านหลังเลย วันที่ไปเป็นวันวิ่งเปี้ยวทัวร์ เวลาไม่ลงตัวเลยไม่ได้กิน เสียดาย ร้านสวยบรรยากาศดีมาก
คารวะเทพเจ้าแห่งชา ณ Tea Museum
ประเทศจีนเป็นประเทศแห่งชา อันที่จริงแล้วหางโจวมีชาที่เป็น The Must เป็นของพิเศษของที่นี่ จัดอยู่ในกลุ่มชาเขียว เป็นหนึ่งในสิบยอดชาของแผ่นดินจีน เรียกว่า ชาหลงจิ่ง (龙井茶) ว่ากันว่า ถ้าจิบชานี้แล้วจะมีกลิ่นปากหอมระรื่นทั้งวัน เลยค้นคว้าดูเพราะไม่เชือ่แม่สาวขายชาที่โหฟ่าง ได้รายละเอียดเยอะมากจากเว็บนี้ค่ะ ตามไปอ่านกัน https://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000092195 โคว้ทเฉพาะที่สำคัญมาให้อ่านกันเล่นๆ สำหรับคนที่โหลดหน้าใหม่ยาก
” ชาวหางโจวบอกว่า วิธีการดื่มหลงจิ่ง ให้ละเมียดละไมและได้รสชาติที่ยอดเยี่ยมที่สุดนั้น ต้องแช่ใบชาหลงจิ่ง ด้วยน้ำแร่ที่มีต้นกำเนิดจากแถบหางโจวเช่นกัน ซึ่งก็คือ น้ำแร่เสือเผ่น (虎跑泉) แท้จริงแล้วเดิมทีมิได้ชื่อว่าเสือเผ่น (หูเผ่า:虎跑) แต่มีชื่อว่าน้ำแร่เสือขุด (หูเผา:虎刨) แต่เนื่องจากการออกเสียงเพี้ยนกันไปเพี้ยนกันมาจาก เสือขุด จึงกลายเป็น เสือเผ่นไป …. เสียเครดิต ‘เสือ’ หมด
ทั้งนี้วิธีแช่ใบชาในน้ำแร่นั้น ลู่หยู่ (陆羽) ปราชญ์ชา ผู้แต่ง คัมภีร์ชา หรือ ฉาจิง (茶经) ได้กล่าวถึงวิธีการชงชาแบบพื้นฐานเอาไว้ คือ เมื่อมีถ้วยชาและใบชาแล้ว ก็เทแร่น้ำเดือดลงไปในถ้วยประมาณ 2 ใน 3 …. จากนั้นก็นำใบชาโปรยไปบนผิวน้ำแร่ ปล่อยให้ใบชาค่อยๆ ซึมซับน้ำ และค่อยๆ จมลงสู่ก้นถ้วย โดยไม่ต้องปิดฝาถ้วย
ชาที่ชงด้วยวิธีนี้ เขาบอกกันว่าจะทำให้มีกลิ่นหอมฟุ้งกระจาย และสามารถรักษาสีดั้งเดิมของชาเอาไว้ได้*
ร่ายมานาน มาเมืองชาไม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ชาได้อย่างไรล่ะ พิพิธภัณฑ์ชา พิพิธภัณฑ์อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวจัดตั้งต่างๆ เขาเอามาไว้นอกๆเมืองเก่าหน่อยค่ะ เป็นการจัดการที่ดีมากขอชมจากใจ พิพิธภัณฑ์ชาก็อยู่ไม่ไกลกันมาก พิพิธภัณฑ์ชา ด้านหน้า มีไร่ชา มีคนเก็บชาให้เราเห็นพอประปราย สถานที่จัดแสดงเป็นกลุ่มอาคาร คาดว่าฤดูโลว์ซีซั่น เลยดูออกจะร้างๆ ไปนิด เล่าเรื่องของชามาเรื่อยๆ มัทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านศิลปะของชา
ไร่ชาหน้ามิวเซียม
สวนสวยหน้าทางเข้า
ต้มชากัน
แสดงวัฒนธรรมกินชาของที่ต่างๆ
ลูอวี่ เทพเจ้าของชา
อ่านเรื่องของลู่อวี่ได้ที่นี่ค่ะ เขียนเองคงไม่อินเท่านี้ https://www.facebook.com/chawawee/posts/548375711905404?stream_ref=10
อาหารวันคุณนาย วันที่ก้าวขาผิดข้างออกเกสท์เฮ้าส์
ในการเดินทางแบบไปเองแต่ละครั้ง เราต้องเตรียมใจให้ความผิดพลาด ในการหลงสะเปะสะปะเหมือนฝูงลูกเป็ดหาแม่ไม่เจอ เจอคนขับรถไม่มีมารยาท (ตรงนี้ อ่านเรื่อง Hangzhou Trip EP 3 ได้เเลยค่ะ) และแน่นอนการได้กินอาหารไม่อร่อย วันนี้ได้มาเกือบจะครบทุกดอกเลยเชียว เริ่มจากอาหารมื้อแรกเลยก็ว่าได้ อันที่จริงแล้วร้านนี้เรื่องซุป หรือ อะไรก็ไม่ได้แย่ แต่ฉันมันคนบ้าเส้น เห็นคนทำเส้นสดแล้ว เหมือนเอาน้ำต้มเส้นมาใส่น้ำซุปให้กินด้วยเลยไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ถ้ากินเป็นเกาเหลาหรือโจ๊กคงดี สิ่งที่แย่คือ มันไม่อร่อยแต่รูปสวยมาก 5555 ขอลงแต่ชื่อร้านกับรูปละกันนะคะ
中山 中路1号 Zhōngshān zhōnglù 1 hào
จงชานจงโล่ว ยี ห้าว
บะหมี่เนื้อน้ำ
บะหมี่รวมทะเล
บะหมี่หมู ที่มีสาระอย่างอื่นมาเยอะมาก ดูดีนะคะ
ร้านอยุ่ปากทางก่อนออกไปโกโลว
奎元馆 Kuí yuán guǎn
ร้านอาหารกลางเมืองอาหารเส้นตอนกลางวัน
ร้านนี้เป็นร้านที่เพื่อน ของน้องลานนาคัมมินส์ ผู้ทำการบ้านทริปนี้มาอย่างหนักหน่วงบอกมาว่าอร่อย ร้านอยู่กลางเมืองใหม่ มีสองชั้นคนแน่นมาก ร้านฟอร์แมทเดียวกับร้านติ่มซำที่ จิมซาจุ่ย ฮ่องกง ไม่ใช่ไม่ชอบนะคะ คิดว่าอร่อยดี แต่มันไม่อู้หู ถ้าเทียบกับอาหารทะเลหรือกับข้าวพวกซุปอื่นๆ หรือเมืองนี้จะไม่เหมาะกับอาหารเส้น
ร้านอาหาร คนขวักไขว่ เพิ่งสิบเอ็ดโมงกกว่าก็หาที่นั่งได้ยากยิ่ง
พี่ฮวงอยากกินไก่แช่เหล้า อยากจัดพร้อมชิงเต่า แต่กลัวอิ่มไป
เมนู แนะนำค่ะ ในรูปสวยหยดมาก ออกมาก็โอเคน่ะ เป็นบะหมี่ปลาไหลทอดกับกุ้ง
อันนี้บะหมี่ทะเลรวมเผ็ด
จาจังเมี่ยนแบบจีน
奎元馆 Kuí yuán guǎn
เช้า 11.00-8.00 ชั้นสอง
ชั้นล่าง 6.30-9.00 pm.
ภาษาจีนเท่านั้น
โทร: 0571 87029012
Tree Cafe
ร้านชาเก๋ๆ เล็กๆ ทำโดยก๊วนเด็กวัยรุ่น พวกเขาเคยมาเที่ยวเชียงใหม่และชอบเชียงใหม่มากๆ อยากกลับมาอีก น้องเจ้าของร้านกล่าวคำว่า “สวัสดีเจ้า” ได้ด้วย น่ารักมากๆ ร้านนี้จริงๆ แล้วความพิเศษคือร้านสวยและอินเตอร์เน็ทดี เอาไว้นั่งทำงาน เงียบ แอร์เย็นฉ่ำ มีที่ให้นั่งเขียนโปสการ์ด เพราะมีตู้ไปรษณีย์อยู่ใกล้ๆ
ชาดอกไม้ และ ทีไลต์ที่ได้เอามาใช้ถูกที่ถูกทางซะที
ชุดกล่องโปสการ์ด
มุมขายๆตามสไตล์เด็กเจนวาย
Tree Cafe
บนถนนดาจิง
เปิด สิบโมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม
ภาษา: อังกฤษ จีน
邻家菜 Lín jiā cài หลิน เจีย ไช่
Old Hangzhou Restaurant
ร้านนี้ดูภาษีดีมากๆ ตัดสินใจไม่ยาก หลังจากอกหักมาจากร้าน Grand Ma’s Kitchen กับคิวที่ 400 กว่าๆ ไปหนึ่งทุ่มเขาจะให้เรากลับมาอีกที สี่ทุ่ม อื่ม…ถ้าจะยากขนาดนั้น… เราลองติดต่อไปที่ร้าน Greentea ร้านดังที่เขาว่า เด็ดกว่า Grand Ma’s Kitchen แล้ว แต่ก็คนล้านเจ็ดสิบเอ็ดแสนเหมือนกัน ในยามที่ความท้อแท้มาเยือน เราตัดสินใจกลับ เกสท์เฮ้าส์ ไปเจอ แท็กซี่ป้ายดำชวนขึ้นรถ ตอนแรกไม่อยากไป เพราะรู้กิตติศัพท์เรื่องนี้ดี แต่รถแท็กซี่หายากมาก เต็มตลอด เลยต้องนั่งป้ายดำไปด้วยความหิว แทนที่ป้ายดำจะไปส่งเราที่ Golou แต่ดันส่งเราที่ Hofang กลางทาง ให้เราเดินเข้าไปเอง ในราคาที่แพงกว่าแท็กซี่ปกติสองเท่า เศร้า และช้ำใจ เราขอแค่ภาวนาให้ร้านที่ไป อย่าเสิร์ฟอาหารไม่อร่อยเลย
ปลาราดซอสน้ำส้ม ก้างตัววาย แทรกซึมทุกอณู
ปลาทะเลสาบซีหู ปลานี้มีชื่อมากๆ เรียกว่า 西湖醋鱼 Xīhú cù yú ซีหูชู่หยู จานนี้เป็นอาหารที่ถ้ามาที่หางโจวต้องกิน แต่จะบอกว่าคิดเหมือนแปะ ร้าน 半瓯茶饭庄 Bàn ōu chá fànzhuāng บ้านอูช๋าฟ่านจวง ว่ามันไม่ต้องจริต แปะคงมองเห็นรสนิยมทางรสชาติที่ใกล้เคียงกัน ถืงรีบเตือนว่าไม่อร่อย ไม่ชอบหรอก …แหม่รู้ใจกันจริง จริงอย่างที่เฮียว่า อาหารแนะนำของที่นี่อาจจะอร่อยสำหรับคนอื่นแต่ไม่ใช่ฉัน ก้างเยอะ ซอสมีกลิ่นที่ไม่ค่อยถูกจริต คือรสชาติไม่แย่ แต่ไม่ใช่แนวค่ะ
หมูตงโพ (东坡肉:Dōng pō ròu) หมูสูตรเจ้าเมือง เอาช้อนจิ้มเข้าไปเหมือนตักครีมอะไรสักอย่าง มันเปื่อยมาก จริงๆเขาขายถ้วยใหญ่ แต่กลัวใจตัวเองเลยขอถ้วยเล็กค่ะ เปื่อยเหมือนตักครีม รสชาติดีมากๆ กินแล้ว ไขมันในเลือดพุ่งปริ๊ดเลยค่ะ
กระหล่ำปลีกระทะร้อน กินแกล้มหมูตงโพแก้เลี่ยน
ร้าน 邻家菜 Lín jiā cài หลิน เจีย ไช่
Gao ying road
10.00am-11.00pm.
TEl: 081 7751914
ภาษา: จีน