The Flow of Flavors
สรรพรสคู่อรรถรส
รูป รส กลิ่น เสียง ร้อยเรียงเรื่องราวเป็นจักรวาลบนจานอาหาร
หากเราเริ่มต้นด้วยการปิดไฟ แต่เปิดการรับรู้ทุกอย่าง แล้วค่อยๆ ละเลียดกับอาหารจานที่อยู่ตรงหน้าโดยมีสิ่งเร้าเป็นกลิ่น แสง สี เสียง และเรื่องราวประกอบ จะทำให้อาหารจานนั้นอร่อยขึ้นไหม เชื่อได้เลยว่ามันต้องอร่อยขึ้นแน่นอน เพราะเราเชื่อว่าสรรพรสของอาหารมาควบคู่กับอรรถรสของอาหารหรือบรรยากาศแวดล้อมของอาหารเสมอ
ประสบการณ์อาหารครั้งนี้ บอกได้เลยว่าใหม่มากสำหรับเชียงใหม่ และอาจจะประเทศไทยด้วย อย่างเราเองก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องกินอาหารในห้องที่ปิด และมากไปกว่านั้นคือเราไม่ได้คาดคิดว่าจะมาเจอสิ่งนี้ที่เอื้องคำสาย
เมื่อเปิดห้องเข้าไปสิ่งแรกที่รู้สึกได้คือความเย็นของห้องปรับอากาศผสานกับกลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งบอกไม่ได้ว่ากลิ่นอะไร แต่แน่ๆ คือเป็นกลิ่นบางๆ ของดอกไม้ มองไปรอบห้องมีโครงสร้างเหล็กคร่อมโต๊ะอาหารอยู่ ด้านบนมี Projector สาดแสงลงมาบนโต๊ะแทน Place Mat บอกตำแหน่งที่นั่งของเราในห้องมืด มันดูวิทยาศาสตร์อวกาศเกินเบอร์มากๆ คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในใจ นี่ฉันมาทำอะไรที่นี่ เขาให้มากินจริงๆ ใช่ไหม เอาน่ะ เดี๋ยวก็รู้
Reception : มาลัย
นี่คือการออกแบบประสบการณ์ด้วยเทคนิค Multi-sensory design ที่ ทำออกมาเป็นบริการในร้าน ที่จับต้องได้จริงครั้งแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
เบื้องหลังของแก้วนี้มาจากนักออกแบบของ SILPIN ใช้เทคนิค Flavored Water ที่พิเศษมาก ให้ Top note เป็นกลิ่นมะลิและดอกรัก Middle Note เป็นกลิ่นข้าวหอมมะลิ Finishing ด้วยกลิ่นดอกกุหลาบจุฬาลงกรณ์ สำทับด้วยกลิ่นของ Edible Perfume กลิ่นมาลัย เป็นการดื่มกินสวนดอกไม้โดยแท้
Amuse Bouche : เจลลี่กุหลาบ
นักออกแบบจานนี้เล่าว่าเป็นการดัดแปลงจาก Pâte de fruits ขึ้นรูปด้วยเทคนิค Alginate Gelification จึงหนุบหนับแต่ไม่เหนียว (เป็นเทคนิคหนึ่งของ Molecular Gastronomy ที่เคยเล่าไว้แล้วที่ https://www.facebook.com/fooducatio…/posts/234845248764724)
ปล.รูปไปเจอ แสงที่ผ่านพอดี เลยออกจะดูเป็นกุหลาบอวกาศนิดหน่อย
Hors d’Oeuvre : ม้าฮ่อ หมี่กรอบ
เบื้องหลังหมี่กรอบเป็นเทคนิคการ infuse flavor เข้าไปใน Carbohydrate Matrix และเบื้องหลังม้าฮ่อเป็นเทคนิค Flavor for Characteristic คือดูเป็นวิทยาศาสตร์ที่แฝงมาในหน้าตาไทยบ้านจริงๆ จัดวางแบบเรียบง่าย แต่เบื้องหลังซับซ้อนมันคือกระบวนการอะไรไม่รู้ เด็กศิลป์หลังห้องได้แต่งง แต่พอออกมาแล้วรสชาติมันดีงามมาก
Plat Principale : ขันโตก
*** สำรับบ้านตึกเป็นจินตนาการอาหารสร้างสรรค์จากต้นตระกูล “ชุติมา-นิมมานเหมินท์” ปฐมบทแห่งแรงบันดาลใจการออกแบบ “ขันโตกดินเนอร์เชียงใหม่” ในปัจจุบัน สูตรอาหารบ้านตึก เกิดขึ้นจากโลกทัศน์อันกว้างไกลของหลวงอนุสารสุนทร ที่ได้มีโอกาสเดินทางค้าขาย รับส่งสินค้าด้วยเรือหางแมงป่อง เชื่อมโยงความสัมพันธ์เส้นทางมรดกอาหารจากราชสำนักสยาม สู่สำรับเจ้านายฝ่ายเหนือ ชนชั้นนำเชียงใหม่ และประชาชนทั่วไป
Intermission : L’Eau Minéral Gazeuse
#Dessert : ไอศกรีมมะกรูด
เจ้าของโปรเจคท์จึงเฉลยว่า นี่เป็นเทคนิคที่เรียกว่า Flavor Enhancing Technique พร้อมเพิ่มเนื้อสัมผัสให้น่าสนใจด้วยการเพิ่ม เยลลี่เพื่อความสนุกในการกิน
#Digestif : เอื้องคำ
เครื่องดื่มปิดท้ายมื้ออาหารที่เต็มไปด้วย WOW effect นี้ นำเอาเครื่องดื่มที่เป็น Apéritif wine อย่าง Lillet Rosé มาผสมกับ Gordon Gin น้ำดอกคำฝอย และ Silpin Syrup กลิ่นดอกลำดวน นำไป infused ด้วยดอกคาร์โมมายล์ และ เอื้องคำสายอินทรีย์ มิน่าล่ะถึงได้หอมละมุนและเต็มไปด้วยกลิ่นอายของฤดูร้อน
#Background
งานที่เขียนถึงนี้เป็น “กิจกรรมการแสดงผลงานการวิจัยและสาธิตการใช้ประโยชน์นวัตกรรมการออกแบบกลิ่นรส
THE FLAVOUR FLOW: Food Faith and Flavours” ภายใต้แนวคิด เมื่อผสานอาหาร ความศรัทธา และ กลิ่นหอม สู่เบ้าหลอมมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย…” เป็นการเสกให้สิ่งที่วิจัยในกระดาษให้ออกมาใช้งานได้จริง จับต้องได้ โดยทำเป็น Prototype ออกมาก่อน ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมาก ทั้งการร้อยเรียงเรื่องราวในด้านการเล่าเรื่อง กราฟฟิค เพลง และกลิ่น ที่ประสานสอดคล้องกัน เพื่อให้คนนอื่นๆ สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านอาหารให้กับผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์แบบ
งานแสดงนี้เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปวิทยาการอาหารเชิงมหรสพ ที่เรียกว่าTheatrical Gastronomy ผสมผสานเทคนิคการเล่าเรื่อง โดยเล่าเรื่องผ่านศิลปะการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับบริบททางสังคม และฉายภาพกราฟฟิคบนพื้นผิว 3 มิติ โดยออกแบบให้สอดคล้องกับดนตรี และการแสดงสด ซึ่งจะกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ตอบสนอง “ต่อหน้าต่อตา” สร้างความรู้สึกหยั่งรู้ผ่านประสาทสัมผัสแบบจมดิ่ง (Immersive Experience)
จากแนวคิดดังกล่าว ยังสามารถต่อยอดไปยังคนป่วยที่มีปัญหารับประทานอาหารไม่ได้ ก็สามารถเพิ่มความอยากอาหารผ่านการกระตุ้นผัสสะต่างๆ สร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกัน และอาจจะสามารถต่อยอดไปในแง่อื่นๆ อีกมากมาย
ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้ลองสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ ในร้านอาหารอื่นๆ โดยอาจจะมีการออกแบบรส และกลิ่น เล่าเรื่องที่ต่างออกไป จะทำให้เชียงใหม่มีผลิตภัณฑ์เชิงท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ที่เราสามารถเรียกว่า Creative Gastronomy อย่างแท้จริง
#หัวหน้าโครงการ: ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
#ผู้ประสานงานโครงการ : อาจารย์อนุวัต เชื้อเย็น ผู้อำนวยการ International Gastronomy Tourism Centre (IGTC) และ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Service Innovation Design
#สนับสนุนโดย: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)