ขุมทรัพย์แห่งเครื่องเทศ และสีสันแห่งความต่าง
ตอนมีเพื่อนบล็อกเกอร์ชาวฟิลิปปินส์ กับชาวอินโดนิเซียถามว่าทำไมถึงไม่เคยเที่ยวอินโดนิเซีย ไม่รู้ว่าทำไมตอบไปว่า “I’ve never traveled below the equator” เพื่อนๆ นี่หัวเราะลั่น เพราะคงไม่เคยมีใครให้คำตอบที่ใช้ศัพท์แสงทรงภูมิแต่ดูตรรกะวิบัติขนาดนี้ คำตอบถัดมาคือกลัวน้ำเพราะว่ายน้ำไม่เป็น อันที่จริง…ลึกๆ แล้ว เป็นเพราะมีมิตรสหายท่านหนึ่งบอกว่า “อาหารอินโดนิเซียไม่อร่อย” คำนี้ดังก้องในหูและสั่นคลอนหัวใจน้อยๆ ของชูชกหญิงมาตลอด ประเทศนี้จึงหายจากลิสต์ท่องเที่ยวอย่างง่ายดาย
วันวารของเมืองเล่าเรื่องอาหาร

ภาพมุมบนก่อนเที่เครื่องจะร่อนลงที่สนามบินจาการ์ต้า
จนกระทั่ง ได้รับการตอบรับจากทีมงาน Trip of Wonders, Wonderful Indonesia นั้นเห็นสถานที่ท่องเที่ยว น้ำทะเลใสๆ ที่เขาแนบส่งมาพร้อมอีเมลยังคิดว่า “โฟโต้ช็อปแหงๆ” จนกระทั่งเดินทางมาถึง อินโดนิเซียจริงๆ (ที่ไม่ได้มีแค่บาหลี) ทำให้ฉันตะลึงพรึงเพริดว่า นี่มันภาพสามดีแน่ๆ ทะเลอะไรจะใสปานนี้เกิดมาไม่เคยเห็นทะเลสะอาด (คือถ้าสะอาดก็ลงเล่นไม่ได้เพราะน้ำเย็นเกินไปอย่างทะเลแถวเคปทาวน์) และที่สำคัญ 10 กว่าวันที่อยู่ในประเทศนี้ อาหารอร่อยแทบทุกมื้อ ดังนั้นเราไม่ควรเชื่อใครในเรื่องอาหารลองเองดีที่สุด นี่เกือบเสียโอกาสที่ได้รู้จักเมืองที่รุ่มรวยไปด้วยกลิ่นแห่งเครื่องเทศ และอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร

การแสดงระหว่างรับประทานอาหาร ที่หมู่บ้านบุโรพุทโธ อาหารอร่อยการแสดงเร้าใจ
ในอดีต…ถ้าอินเดียเป็นเมืองหลวงของกระวานและอบเชย อินโดนิเซียก็เป็นเมืองหลวงแห่งกานพลูและลูกจันทน์เทศ เส้นทางการค้าเครื่องเทศมีเพียงสองเส้นทางนี้เท่านั้น ดังนั้นในเรื่องการใช้เครื่องเทศ การใช้พริกในอาหารเชื่อขนมกินได้ว่า ที่นี่เขาเป็นตัวจริง ด้วยความที่ประเทศนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลามิกชน มากกว่า 90% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่จึงประกอบด้วย เนื้อ ไก่ หรือไม่ก็แกะ ศาสนาอิสลามเพิ่งเข้ามาในประเทศเมื่อศตวรรษที่ 13 นี่เอง หลังจาก ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ถ้าจะให้เข้าใจรากเหง้าของอาหารมากขึ้นเราลองมาดู Timeline คร่าวๆ ของประวัติศาสตร์กันดีกว่าค่ะ
3,000-5,000 BC– มีชาวจีนตอนใต้จากยูนนาน และตังเกี๋ย อพยพเข้ามาที่หมู่เกาะอินโดนิเซีย รวมไปถึงฟิลิปินส์ มาอยู่ร่วมกับชาวพื้อนเมืองที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว
100 BC- มีการติดต่อค้าขายระหว่าง จีนตอนใต้และหมู่เกาะอินโดนิเซีย
ต้นคริสต์ศตวรรษ มีชาวฮินดูอพยพมาจากอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมที่รับสืบทอดมาคือ สถาปัตยกรรม การปั้นรูป วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ และการเล่นพื้นเมือง ซึ่งยังคงมีอยู่ในบาหลี และลอมบ็อกตะวันตก
พ.ศ.643 – 743 – พุทธศาสนามหายาน และเถรวาทเข้ามาที่หมู่เกาะอินโดนิเซีย มีศูนย์กลางอยู่ที่ปาเล็มบัง (Palembang) ที่เกาะสุมาตรา และชวาตอนกลาง
พ.ศ. 1389 – ชาวอาหรับเข้ามาที่หมู่เกาะอินโดนิเซียโดยนำเอาศาสนาอิสลามมาเผยแผ่ด้วย
พ.ศ. 2164 – ชาวดัตช์ได้มาปกครอง หมู่เกาะอินโดนิเซีย (ชาวตะวันตกเชื่อว่าที่ๆ ปลูกลูกจันทน์เทศได้นั้นคือสวรรค์ ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงมากนัก) ชาวตะวันตกให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องเทศที่สำคัญนอกเหนือจากอินเดีย
พ.ศ. 2209- เริ่มมีการต่อต้านชาวดัตช์ เริ่มมีชาวอังกฤษมาตั้งถิ่นฐาน บริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา
พ.ศ.2358 – 2359 ปกครองโดยชาวอังกฤษ
พ.ศ.2359 กลับมาปกครองโดยชาวดัตช์อีกครั้ง
พ.ศ.2485 – 2487 สงครามมหาบูรพา ญี่ปุ่นเข้าปกครองอินโดนิเซีย
พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม เปิดโอกาสให้ชาวอินโดนิเซียได้ประกาศอิสรภาพ
จากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทำให้เราได้เห็นถึง ความหลากหลายของชนชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอินโดนิเซีย ประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็สะท้อนออกมาเป็นวัฒนธรรม ภาษา ความเป็นอยู่และอาหาร เวลาคุยกับเพื่อนๆ บล็อกเกอร์ชาวอินโด เขามักจะถามกันว่า นี่แถวชวาเรียกว่าอะไร แถวสุมาตราเรียกว่าแบบนี้ บางทีเราก็งงๆ คนนึงบอกอย่างอีกคนบอกอย่าง ไม่มีใครผิดเพราะเขามีภาษาพื้นเมือง ภาษาท้องถิ่น ที่ต่างกันถึง 742 ภาษา (โหววววว……) ทีนี้อาหารของที่นี่เลยผสมผสานกันหลากวัฒนธรรมคือมีทั้งจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง จนมาเป็นอาหารที่มีเอกลัษณ์ของตัวเอง
ครัวชาวอินโดนิเซีย

ร้านอาหารข้างทาง ระหว่างที่จะเดินไปช็อปปี้งในเมืองยอร์กยาการ์ต้า
ก็เหมือนๆ ประเทศอื่นๆ คือ แต่ละพื้นที่ก็มีอาหารที่ต่างกัน เพราะอินโดนิเซียเป็นเมืองที่มีเกาะใหญ่ๆ อยู่ 5 เกาะ คือชวา สุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และอิเรียนจายา มีเกาะเล็กเกาะน้อยมากกว่า 17,000 เกาะ และเกาะที่ยังไม่ค้นพบอีกมาก ความใหญ่และความหลากหลายทำให้อาหารหลากหลายไปด้วย แต่ก็มักจะมีจุดร่วมที่เหมือนๆ กัน อาหารในสำรับของคนที่นี่ ก็คล้ายๆ คนไทย มีอาหารทอด มีแกง มีน้ำพริก มีจานเนื้อสักจาน กินคู่กับข้าว ถ้าเป็นอาหารจานเดียวสุดฮิตก็คงไม่แพ้กลุ่มข้าวที่ตักกินกับแกงต่างๆ หมี่โกเร็ง หรือผัดหมี่แบบอินโดนิเซีย สิ่งที่เหมือนๆ กันคือทั้งเราและชาวอินโดฯ นี่เป็นนักบริโภคซีอิ๊วเหมือนๆ กันใช้จิ้มของทอด ใส่ผัดต่างๆ ใส่ก๋วยเตี๋ยวรสชาติไม่หนีกันมากค่ะ อาหารในที่นี้ก็จะเล่าเฉพาะที่ไปกินมาที่เห็นว่าแตกต่างนะคะ อย่างอื่นถ้าไม่ได้กินคงอธิบายไม่ได้ ฮ่าๆๆๆๆ
อาหารคู่สำรับชาวอินโดนิเซีย
1. ถั่ว เทมเป Tempeh

ถัวแผ่น เท็มเป แหล่งโปรตีนคู่สำรับชาวอินโดนิเซีย
ตอนแรกเจอนึกว่าขนมถั่วตัดค่ะคิดว่าจะหวาน…ไม่เลยเ เพราะมันเห็นถั่วเป็นเม็ดๆ เจ้าเท็มเปนี้มักจะมาคู่กับจานทอดทุกอย่าง บางทีตัดเป็นก้อนๆ มาในแกงด้วย อาหารชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ถั่วที่ไม่ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมมาจากจีนเลย เชื่อว่าถั่วแผ่นเท็มเปถือกำเนิดมาจากเกาะชวาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เป็นการนำถั่วเหลืองมาหมัก ทำให้เกิดเอนไซม์ และใยสีขาวยึดถั่วให้ติดกันเป็นก้อน กรรมวิธีในการทำเท็มเปนั้นยุ่งยากทำแต่ละครั้งใช้เวลายาวนานถึง 4 วัน ยีสต์ที่ใช้ต้องเป็น Ragi Tempe คือหัวเชื้อสำหรับทำเท็มเป ใช้ยีสต์อื่นไม่ขึ้นนะคะ ต้มถัวไม่สุก หรือเละไปก็ไม่ขึ้นอีกเหมือนกัน กรรมวิธีต้องสะอาดมากๆ วมีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาทำบางทียังไม่ขึ้นเลย สำหรับชาวมังสวิรัติ เท็มเปสามารถใช้แทนเนื้อได้เลย เพราะมีโปรตีนสูง ถึง 19.5% (https://www.soyinfocenter.com/HSS/tempeh1.php) ถ้าถามว่าเหมือนถั่วเน่าบ้านเราไหม ตอบได้เลยว่าไม่เหมือนค่ะ ของทางเหนือกลิ่นแรงกว่ามาก
2. ซัมบัล Sambal

ซัมบัล Sambal น้ำพริกคู่สำรับ
ซัมบัลเป็นสิ่งที่ฉันชอบที่สุด เพราะเป็นคนบ้าน้ำพริกมาก ฉันสามารถกิน ซัมบัลนี่ได้เป็นกาละมังๆ ซัมบัล มีทั้งแบบพริกแดงและพริกเขียว มีความหลากหลายเหมือนน้ำพริกคนไทย มีประมาณเจ็ดร้อยกว่าชนิดตามพื้นที่ๆ อยู่ แซมบัลจะมาพร้อมกับอาหารทุกๆ มื้อ ส่วนประกอบใน ซัมบัลหลักๆ ก็มีพริก กระเทียม หอมแดง ถ้าใส่กะปิอินโดฯ จะเรียกว่า Sambal Terasi หอมอร่อยมากๆ กินข้าวเบิ้ลสองจานกันเลยทีเดียวค่ะ ถ้ารสไม่จัดมากก็ใส่มะเขือเทศลงไป Sambal Tomat พริกเขียวจะคล้ายๆ กับน้ำพริกหนุ่มเรียกว่า Sambal Ijo เห็นที่โรงแรมแล้วมัวแต่กินอย่างอื่นเลยไม่ได้ลอง รสชาติเผ็ด เค็ม เปรี้ยวนิดๆ บางที่ใช้มะนาว บางที่ใช้มะขามเพิ่มความเปรี้ยวค่ะ

ครกอินโดลักษณะป้านๆ เหมือนชาม มีหลายขนาด หลายแบบ ตัวสากก็มีให้เลือกหลายแบบด้วย
แซมบัลจะทำไม่ได้เลยถ้าขาดสิ่งนี้ คือ “ครก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของครัวแถบเอเชียอาคเนย์ ที่อินโดนิเชียครก มีชื่อเรียก หลายๆ ชื่อ ภาษาซุนดา (Sundanese ใช้กันแถบชวาตะวันตก) คือ Cowét หรือ Coet โจเว็ท ภาษาชวา เรียกว่า Cowek โจเอก ในจาการ์ตาเรียกว่า Cobek โจเบก ส่วนสาก เรียกใกล้ๆ กันว่า mutu และ muthu ตามลำดับ ครกของที่นี่เป็นทรงป้านและตื้น มีขนาดเริ่มต้นตั้งแต่ 8 เซ็นติเมตร จนถึง 20 เซ็นติเมตร มีหลากหลายรูปทรง ใช้ตำ ทุบ บด กาแฟ น้ำพริก แม้กระทั่งทุบหมู
3. มะนาวอินโดฯ Limau Kasturi

มะนาวอินโด มากับจานอาหาร พวกน้ำพริก หรือซุป และอาหารจานเดียวที่ต้องการความเปรี้ยว
Limau Kasturi ลิโมคัสตูริ
เป็นตัวเพิ่มรสเปรี้ยวให้กับอาหารอินโด เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 นิ้ว ตอนแรกเห็นคิดว่าเป็นมะกรูดจิ๋ว เพราะถามคนอินโดแถวนั้นซึ่งอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่อง บอกว่า Kaffir lime เลยคิดว่าเป็นมะกรูด ลิโมคัสตูริไม่มีกลิ่นเหมือนมะนาวไทย น้ำน้อยกว่าเมล็ดมากกว่า ในประเทศตะวันตกปลูกเป็นไม้ประดับ
4. Acar – อาจาด

เคียงคู่มาเสมอ กินแล้วตัดเลี่ยนในจานเนื้อดีแท้
อาจาด เป็นภาษามาเลย์ ตรงๆ เลยคือผักดองค่ะ อาจาดของที่นี่เปรี้ยวนำ หวานตาม ใช้น้ำส้มสายชูดอง ใส่ผักได้หลายอย่างไม่จำกัดว่าเป็นแตงกวาพริกชี้ฟ้าและหอมแดงเหมือนบ้านเรา บางที่ใช้ความหวานจากผลไม้พวกสับปะรดใส่ลงไป หรือไม่ก็ใช้น้ำเชื่อมไปเลย
5. Kerupuk ข้าวเกรียบอินโด

Kerupuk, Kruepuk หรือ กือโป๊ ของไทยทางใต้
ตอนแรกที่ร่วมมื้ออาหาร มีเพียงบล็อกเกอร์ไทยเท่านั้น ที่เอาข้าวเกรียบแยกจานมากับอาหารแล้วมาแบ่งกันกิน แต่คนที่นั่นเขาเอาใส่กับจานข้าวเลย คนบ้านนี้เมืองนี้กินข้าวเกรียบกันอร่อยมาก กินกับข้าว จิ้มน้ำพริก หรือกินเปล่าๆ เขากินกันอย่างสนุกมาก รอบหน้าเลยทำแบบเขาบ้าง ข้าวเกรียบของอินโดนี้ฟรีสไตล์หลายฟอร์มมาก ทั้งแบบที่เหมือนทอดใส่พิมพ์เหมือนในรูปซึ่งเป็นข้าวเกรียบปลา หรือแบบที่เป็นข้าวเกรียบกุ้งเป็นแผ่นปกติ ส่วนชื่อนั้นเรียกได้หลายแบบ คือจะ Kerupuk หรือ Krupuk ก็ไม่ว่ากัน ทางใต้ของบ้านเราเรียกว่า กือโป๊ะ
จานเด็ดอินโด
เจอของข้างสำรับไปแล้ว ก็มาเจอจานเด็ดกันบ้าง ฉันเองตอนเดินทางครั้งแรกคิดอย่างเดียวจะไปกินซุปหางวัว เพราะคนไทยชอบพูดกันว่าอาหารอินโดกินได้แค่ซุปหางวัวและ สะเตะ จริงที่ว่าสองจานนี้เด็ด แต่ก็มีจานอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย คัดมาคร่าวๆ ส่วนที่เป็นสะเต๊ะ หรือ ซุปหางวัวนี่คงรู้ๆ กันเลยไม่โพสท์ดีกว่า เอาเป็นว่าเรียงตามลำดับที่เจอละกันค่ะ
1. Soto ซุปอุ่นท้องของอินโด

Soto ซุปเนื้อวัวหวานหอมแบบชาวบันดุง
Soto/ Saoto ถ้วยนี้ เป็น Soto แบบบันดุง เมืองแรกที่ได้ไปเที่ยว เป็นซุปเนื้อใส รสกลมกล่อมด้วยเนื้อและสาหร่ายทะเล เพิ่มความหวานด้วย หัวไชเท้าซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองบันดุง ส่วนซุปเมืองอื่นๆ ก็มี Soto Ayam เป็นซุปไก่ น้ำเป็นสีเหลืองใสๆ โซโต เนื้อถ้วยนี้เปื่อยนุ่มดี ที่แปลกคือมีถั่วเหลืองลองฟ่องอยู่บนน้ำซุป ถามแม่ครัวที่พูดกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเขาว่าเป็นถั่วเหลืองคั่ว (ในใจคิดว่าคงสื่อสารกันพลาด เพราะมันเหมือนเต้าเจี๊ยวที่มีมีกลิ่นมีรสมากกว่า)
2. Mie Kocok -หมี่โคจุ๊ก

อารมณ์เดียวกับก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา แยกซุปแยกผักมา พร้อมเครื่องปรุง อยากกินทำเอา อยากอร่อยปรุงเอง
ที่อินโดนิเซีย ตัวหนังสือ c จะออกเสียง จ ดังนั้น อาหารถ้วยนี้จึงอ่านว่าโคจุ๊ก เป็นอีกหนึ่ง signature ของเมืองบันดุงทางชวาตะวันตก ที่ไม่ลองไม่ได้เลย ที่ได้ชิมคือเขาจะแยกบะหมี่ลวกไว้ที่หนึ่ง ผักลวก ซึ่งมักจะเป็นถั่วงอก บางที่ใส่พวกลูกชิ้นด้วย เริ่มจากเอาเส้นใส่ถ้วย ใส่ผัก เติมน้ำซุปเนื้อร้อนๆ ที่เห็นในรูปเป็นหนังวัวในซุป เสร็จแล้วก็โรยหน้าด้วย ผักชีซอย และซีอิ๊วหวานที่เรียกว่า Kecap อยากเปรี้ยวใส่มะนาว อยากเผ็ดใส่พริกตำ แอบไปถามมาเขาว่า เป็น Soto Sambal ไม่รู้จริงหรือเปล่า ฮ่าๆๆๆ ทริปนี้เวลาคุยกับคนพื้นที่จริงๆ เมื่อยมือมาก
3. Gado Gado สลัดแขก

สลัดผักที่ดูเหมือนจะราดด้วยน้ำจิ้มหมูสะเด๊ะบ้านเรา
กาโด กาโด ชื่อน่ารักมาก จานนี้ได้กินที่บันดุงอีกเหมือนกันค่ะ เป็นสลัดผักใส่เต้าหู้ทอด ราดด้วยน้ำสลัดที่เป็นน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะบ้านเรานั่นแล มีข้าวเกรียบแปะมาข้างบน ดูเผินๆ เหมือนสลัดข้าวเกรียบ น้ำจิ้มพริกที่ไม่เผ็ดมีบอดี้เป็นถั่วลิสงป่นและเข้มข้นด้วยน้ำกะทิ บางที่ก็ใส่เครื่องเคราเยอะกว่านี้ คือมีทั้งไข่ต้ม เมล็ดพืช
4. Nasi Bakar-ข้าวห่อใบตองย่าง

Nasi Bakar จานนี้ข้าวหุงกะทิ ราดด้วยผัดเผ็ด แล้วห่อใบตองเตรียมเอาไปย่าง
นาซิบาการ์ คือการนำเอาข้าวที่หุงให้สุกพอเหลือไตนิดนึง ในภาพนี่พ่อครัวหุงกับกะทิค่ะ แล้วทีนี้ก็เอามาใส่หน้าที่ผัดไว้แล้ว อันนี้ คือไก่ผัดกับเห็ดและพริกวางหน้าด้วยโหระพา พอเสร็จก็ห่อม้วนด้วยใบตองเอาไปเผาค่ะ เวลากินก็จะมีกลิ่นหอมไหม้นิดๆ ของใบตองด้วย เวลาเสิร์ฟก็หั่นครึ่ง กินแนมกับเท็มเป้ค่ะ
5. Bubur Ayam- โจ๊กไก่แสนอร่อย

โจ๊กร้อนๆ อร่อยๆ ที่ชุมนุมของมนุษย์กลางคืน ภาพถ่ายในซอยตรงกันข้ามโรงแรมเชอราตั้นบันดุง
Bubur Ayam เจอโจ๊กไก่ฉีก ตอนราวๆ เที่ยงคืนกว่า สติสตังถูกบินตังขโมยไปแล้ว ในช่วงต้นๆ ทริป ที่ไปถึงอินโดนิเซีย ฉันก็อยากจะไปลองเบียร์ของอินโดนิเซียให้ครบเพราะเกรงว่าเมื่อถึงเมืองที่ไม่มีเบียร์ขายแล้วชีวิตจะยากมาก เวลาอยากินไม่ได้กิน เลยออกตามหาร้านเบียร์ ลองกินครบทุกยี่ห้อแล้ว ก่อนเข้าโรงแรมก็เกิดหิว มีร้านเล็กๆ บ้านๆ ในซอย นั่งเรียงกันเหมือนบาร์ ขายพวกบะหมี่สำเร็จรูปและ เจ้านี่เลย “โจ๊ก” ที่เขาเรียกว่า Bubur Ayam โจ๊กที่นี่เนื้อเนียนแต่ยังมีเนื้อของเม็ดข้าวอยู่ มีไก่ปนอยู่ในข้าวและโปะลงมาที่ข้าว อันนี้เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากจีนโดยตรง เพราะมี油條 (youtiao) หรือปาท่องโก๋บ้านเรา เขาทำแบบกรอบหั่นโรยหน้ามาด้วย ที่พิเศษคือมีถั่วคั่วโรยมาให้ด้วย อันนี้เป็นแบบของบันดุง
6. Bakso – ลูกชิ้นอินโด

ลูกชิ้นเนื้อของชาวอินโด ที่มีขายทั่วไปตามรถเข็นข้างทางหรือแม้แต่ข้าวกล่องในรถไฟก็มี ลูกชิ้นด้วย
ลูกชิ้นเนื้อของชาวอินโด ไม่ต่างจากของชาวจีนและของบ้านเรามากนัก ลูกชิ้นเนื้อที่กินที่อินโดนิเซียส่วนใหญ่เป็นร้านข้างทาง หรือไม่ก็กินบนรถไฟ อาจจะไม่ได้ลิ้มรสของลูกชิ้นพรีเมียมของอินโดนิเซีย แต่ก็ถือว่ารสชาติโอเคอยู่ค่ะ Bakso ของที่นี่ส่วนใหญ่ทำจากเนื้อ ถ้าหากจะหาหมูเขาว่าที่บาหลีพอจะมี เพราะมีประชากรชาวฮินดูอาศัยอยู่มาก Bakso นอกจากจะกินกับข้าวแล้ว ยังกินกับก๋วยเตี๋ยว เป็นเส้นเล็กเหมือนๆ บ้านเรา ที่นี่เรียกบี่ฮุน Bihun บางทีก็ใส่มาม่าและบะหมี่เหลืองเส้นใหญ่ๆ ถ้าสั่งแค่ลูกชิ้นอย่างเดียวเขาก็จะราดซีอิ๊วหวานและหยอดน้ำซุปมาให้ด้วย
7. Ayam Bakar และ Ikan Bakar – ไก่ย่างและปลาเผา

อาหารย่าง ในภาพอาจจะเกรียมไปนิด แต่อร่อยมากมายยิ่งกินกับ ซัมลัล มันคือปลาเผากับน้ำพริกนี่เอง
อาหารจานที่เห็น นี่เขาทำย่างกันสดๆ ริมทะเล ภาพที่ถ่ายด้านหลังคือ Pink Beach หาดชมพู ทรายละเอียด แต่ฉันไม่ได้เล่นน้ำกับเขา มานั่งเฝ้าเตาย่าง จนตีซี้กับแมาครัว นั่งดูเขาย่าง บ้านเราเวลามีเปลวไฟ จะเอาไฟกลบ ให้ไฟอ่อนลง บ้างก็พอกเกลือเพราะไม่ขอดเกล็ด ปลาที่นี่เป็นปลาทะเลเนื้อหวาน กินอร่อยมาก ส่วนไก่นั้นก็อร่อยไม่แพ้กัน เวลาเขาย่างเขาจะเอาซอสลงไปทาล้อเล่นกับเปลวไฟที่ขึ้นมาลามขนแขน ฮ่า ไฟแรงมากจริงๆ แต่ดูสนุกมีชีวิตชีวา จะบอกว่าพอกินกับซัมบัล มันคือ การกินข้าวอยู่เมืองไทยชัดๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าเราต่างมีรากเหง้าเดียวกัน กินข้าวเหมือนกันและมีวัฒนธรรมร่วมที่เหมือนกัน ต่างกันแค่เพียงกำแพงภาษา
8. Bebek Goreng และ Ayam Goreng ไก่ทอดและเป็ดทอด

เป็ดทอด ไก่ทอด อย่างโปร เรื่องนี้ต้องยอมเขา
กิน Duck Confit ของฝรั่งเศสที่ ทำยากทำเย็นตุ๋นน้ำมันเป็ด 20 ชั่วโมง ที่ว่าอร่อย ต้องยอมเป็ดที่บาหลี ค่ะ โว้ว…เขาเป็นเอกเรืองของทอดมาก ตอนแรกว่าแค่เป็ด เจอไก่ก็ศิโรราบเหมือนกัน ฉันว่าพวกสูตรของทอดทางใต้ของไทยต้องเอาสูตรมาจากที่นี่แน่นอน รสชาติไม่หนีกัน เพียงแต่บ้านเราไม่มีเป็ด มันเจ๋งจริงฮะ เอาคำว่าอร่อยมากๆ อร่อยที่สุด มาเททิ้งกันที่อาหารจานนี้ ข้างนอกของเป็ดกรอบ รสชาติเข้มเนื้อด้านในมีสัมผัสนุ่มนวล ไม่อมน้ำมัน กินคู่กับซัมบัลและผักสด ถือเป็นอาหารเด็ดของบาหลี ไม่กินก็มาไม่ถึงนะคะ
ขนมอร่อย

ขนมหลากชนิดเมื่อวางรวมกันจะเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารของอินโดนิเซียได้ง่ายดาย
ของกินเล่นของคนอินโดนิเซียจัดว่าไม่หวานมาก ถ้าเทียบกับอาหารซึ่งออกไปทางหวานมากกว่า ในภาพเราจะเห็นถึงความหลากหลายของขนม ที่ได้รับอิธิพลต่างๆ กัน มีทั้งขนมที่ห่อด้วยวัสดุธรรมชาติ แบบชาวเอชียอาคเนย์ และแบบขนมอบ และขนมใสพิมพ์คล้ายของจีน อันแรกจากด้านบนซ้าย คือ Clorot น้ำตาลมะพร้าว กะทิ แป้ง เหมือนขนมกล้วยที่ห่อในกรวยใบปาล์ม Lemper ทำจากข้าวเหนียว ไก่ฉีก คืออันที่เหมือนข้าวต้มมัด Angku ทำจากถั่วเขียวและแป้งคืออันสีแดงๆ รวมไปถึง Tempe ถั่วแผ่น ทอด และอันที่อร่อยและชอบมากคือ Perkedel มันสัมปะหลังบดปั้นก้อนทอด (ไม่อยู่ในรูป) อ้าวลืมอันที่เหมือนขนมไข่ซะงั้น
ทำความรู้จักอาหารกันแล้ว เดี๋ยวจะพาไปเที่ยวอินโดนิเซียต่อ ที่โพสต่อไปนะคะ